www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 2 คน
 สถิติเมื่อวาน 31 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2258 คน
14082 คน
1706526 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

คอมมูนิสต์มลายา
                     

พรรคคอมมิวนิตส์มลายา                                                         

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว.
6 มิถุนายน 47
         
  พรรคคอมมิวนิตส์มลายา เกิดจากการรวมตัวของชาวมลายูเชื้อสายจีน ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ประเทศมาเลเซีย ในปัจจุบัน คนจีนกลุ่มนี้ มีบรรพบุรุษอพยพมาจากจีนผืนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากเกิดความอดอยาก และภัยสงคราม ที่มีอยู่หลายครั้ง จนชาวจีนส่วนใหญ่ อพยพหนีภัยล่องเรือลงมาทางใต้ เพื่อหางานทำและตั้งถิ่นฐานใหม่ ชาวจีนบางคนไปตั้งรกรากที่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้งไทย ด้วย
 
          คนจีนที่มาอาศัยอยู่ มาเลเซีย จะมาทำการค้า ทำเหมืองแร่ดีบุก และการเกษตร ทำให้ชาวจีน มีฐานะร่ำรวย กว่าชาวมลายู ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ ของคาบสมุทรมลายู เมื่อชาวจีนมีฐานะร่ำรวย ก็ได้ส่งเงินไปช่วยเหลือครอบครัวที่มีฐานะยากจนที่บ้านเกิดในประเทศจีน รวมทั้งมีการส่งเงินไปช่วยรัฐบาลจีนเพื่อทำสงครามกับญี่ปุ่น และช่วยฟื้นฟูประเทศ ในที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่นำโดย เหมา เจ๋อ ตุง ได้ขึ้นปกครองประเทศจีนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2492 กระแสการปกครองของโลกจึง แบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ โลกทุนนิยม นำโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และโลกคอมมิวนิสต์ ที่นำโดย โซเวียตรัสเซีย จีน และแน่นอน ชาวจีนในมาเลเซีย จะต้องให้การสนับสนุนบ้านเกิด โดยการรวมตัวจัดตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์มลายา มีเป้าหมายยึดครองคาบสมุทรมลายู เพื่อให้มาเลเซีย ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ผู้ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการต่อสู้ และรู้จักกันดีคือ นายจีนเป็ง (เมื่อปี 2546มีข่าวเสียชีวิตแล้ว แต่เมื่อปี 2552 มีข่าวการขอเข้าประเทศมาเลเซีย )กลุ่มนายจางจงหมิง และนายอี้เจียง (ปัจจุบันยังมีชีวิต พำนักอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา ) จึงเกิดเป็นพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เพื่อสู้รบกับ รัฐบาลมาเลเซีย ที่มีอังกฤษ ให้การสนับสนุน มาเลเซียอย่างเต็มที่ 
 
          การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จะเป็นการสู้รบแบบกองโจร โดยใช้ยุทธวิธี แบบซุ่มโจมตีข้าศึก แล้วหลบหนีเข้าไปในอาศัยอยู่ในป่าเขา ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ได้ใช้กำลังทหารและตำรวจ เข้าปราบปราม สร้างความสูญเสีย ให้กับทั้งสองฝ่าย เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่การสู้รบ และที่หลบซ่อนของ พรรคคอมมิวนิสต์มลายา จะอยู่ในป่าเขา เป็นที่กำบังในการต่อสู้เป็นอย่างดี ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ได้ขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่หลายแห่ง กระจายอยู่ตามเทือกเขาตามแนวชายแดน ทำให้อยากต่อการติดตามไล่ล่า เพราะอุโมงค์ที่ขุด มีทางเข้าออกที่สลับซับซ้อน ถ้าไม่เคยเข้าไป ก็จะกลายเป็นกับดัก นั่นหมายถึงจะกลับออกมาได้ก็จะต้องเป็นร่างที่ไร้วิญญาณ เท่านั้น  
 
          กระแสการต่อสู้ขณะนั้นรุนแรงมาก เพราะในกลุ่มประเทศอินโดจีน ประกอบด้วย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พรรคคอมมิวนิสต์ รุกคืบเข้าสู่เมืองหลวง และสามารถยึดเมืองหลวงได้หลายแห่งทั้ง เวียงจันทน์ พนมเปญ และไซ่ง่อน ซึ่งทำให้ ทหารสหรัฐอเมริกา พ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม อย่างย่อยยับ และสงครามในอินโดจีนจึงสงบลงอย่างราบคาบเมื่อ ปี 2520 แต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงยืนยัดต่อสู้ต่อไป จนถึง ปี 2528 จึงได้ยุติบทบาทเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย และทุกคนก็ได้รับสัญชาติไทย แม้นว่า บางคนจะเกิดในมาเลเซีย แต่ก็เลือกที่จะอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และคนไทยกลุ่มนี้ ได้มีแนวความคิดที่พัฒนาอุโมงค์ ที่พวกเขาเคยใช้เป็นที่หลบซ่อน สู้รบกับรัฐบาลมาเลเซีย และไทย บัดนี้พวกเขาเหล่านั้น ได้หันมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และส่วนใหญ่ได้ประกอบอาชีพ ด้านการท่องเที่ยว บางคนเป็นสมาชิกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จังหวัดสงขลา และเป็นผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนาการท่องเที่ยว จึงมีแนวคิดที่จะเสนอต่อรัฐบาล ให้มีการพัฒนาค่ายอุโมงค์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นพื้นที่ปลูกพืชเมืองหนาว
 
          นายอี้เจียง อดีตหัวหน้ากรม 8 พรรคคอมมิวนิสต์มลายา วัย 77 ปี เล่าว่า ความเป็นมาของพรรคเกิดขึ้นจากการที่ชาวจีนในมาเลเซีย ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่จีนต่อสู้กับญี่ปุ่น จนจีนชนะญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นรุกรานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวจีนในมาเลเซียก็ได้ร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น และเนื่องจากมลายูเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชาวจีนกลุ่มนี้ก็ลุกขึ้นต่อต้านอังกฤษและรัฐบาลมาเลเซียเพื่อเรียกร้องเอกราช จนถูกทางการมาเลเซียและอังกฤษร่วมกันปราบปราม จึงมีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้จนต้องถอยร่นมาอยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย โดยแบ่งกองกำลังออกเป็นกรม ถึง 12 กรม จนถูกตีแตกเหลือมาอยู่ในฝั่งชายแดนไทยเพียง 3 กรมคือ กรม 7 กรม 8 และกรม 12 ส่วนกรม 8 มีตนเป็นหัวหน้า ตอนนั้นอายุประมาณ 40 ปี มีการขุดอุโมงค์เพื่อใช้ในการหลบซ่อนตัวและใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งอุโมงค์บางแห่งมีความยาวหลายกิโลเมตร บางแห่งมีขนาดใหญ่ ภายในมีสนามบาสเก็ตบอล มีเรือนพยาบาล ห้องนอน  โรงผลิตอาวุธ ห้องครัว ในการต่อสู้ครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 1970 (พ.ศ.2513 ) พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ได้เกิดความแตกแยกจนมีการแบ่งออกเป็น สาม พรรค
 
          ที่ตั้งของอุโมงค์ที่พรรคคอมมิวนิตส์มลายา อยู่ในเขตไทย ทางการไทยจึงทำการปราบปราม กดดัน และในที่สุดรัฐบาลไทยจึงรับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามนโยบาย 66/23 ทำให้สมาชิกวางอาวุธ รัฐบาลไทยจึงให้อยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทยอย่างสันติ ในหมู่บ้านจุฬาภรณ์ ที่ตั้งเรียงรายตามแนวชายแดนไทย- มาเลเซีย ด้านอำเภอเบตง จ.ยะลา   และอำเภอสุคิริน จ.นราธิวาส คณะรัฐมนตรีในสมัยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัญชาติกับคนกลุ่มนี้ ประมาณ 400 คน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545        
 
นายอี้เจียง บอกว่า ในอดีตมีอุดมการณ์ที่จะยึดครองมาเลเซีย แต่ก็ไม่สำเร็จ ปัจจุบันเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และสุดท้ายก็ได้สัญชาติไทยก็พอใจแล้ว ถึงแม้นว่าตนเองจะเกิดที่มาเลเซีย แต่ก็จะขอตายที่ประเทศไทย ขณะนี้ตนหลบภัยมาอาศัยอยู่กับครอบครัว ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว กรม 8 ที่ตน เป็นหัวหน้าอยู่ได้เริ่มพัฒนาอุโมงค์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยได้มีการแต่งตั้งนายอี้ซิง เป็นผู้จัดการ และนายอี้เซิน เป็นรองผู้จัดการ โดยไม่มีการทำสัญญาแต่อย่างใด แรก ๆ ลูกน้องก็เกรงใจ แต่ตอนหลัง เริ่มมีผลประโยชน์ และจะฮุบเป็นของตัวเอง จึงได้มีการเรียกประชุม เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 มีผู้เข้าร่วม 60 คน ในจำนวนนี้ 52 คน ยืนยันว่าอุโมงค์เป็นของส่วนรวม แต่อีก 8 คน ยืนยันว่า เป็นกลุ่มของนายอี้ซิง และจะขายให้กับรัฐบาลไทยเป็นเงิน 27 ล้านบาท จนนำไปสู่ความขัดแย้ง 
 
          ด้านนายสุวิทย์ แซ่หลี่ หรือชื่อจัดตั้งว่า นายจีเสียง แซ่หลี่ ตัวแทนของหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 1 ถึง12 บอกว่า ได้มีการพัฒนาอุโมงค์ที่ ปิยะมิตร 1 กับ ปิยะมิตร 5 มานานแล้ว แต่ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปพัฒนาให้เป็นตัวอย่างในการท่องเที่ยว ส่วนที่นราธิวาส มีหมู่บ้านหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 มีนายโควินชา เป็นหัวหน้า ตั้งอยู่ที่ หมู่ 13 อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2540 หมู่บ้านร่วมกับกรมป่าไม้ได้จัดทำโครงการดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม ค่ายพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีอุโมงค์ แต่เป็นขนาดเล็ก ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มมุสลิม และอยู่ใกล้กับมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นการง่ายต่อการพัฒนา เพราะในขณะนี้ได้มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียไปท่องเที่ยวมากขึ้น และที่สำคัญอยู่ใกล้เหมืองแร่ทองคำ โต๊ะโม๊ะ ส่วนหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 9 และหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 10 จะอยู่ที่ตอนปลายของเขื่อนบางลาง จ.ยะลา และมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ มีแหล่งน้ำและภูเขา หากได้รับการพัฒนาจะเป็นที่สนใจ และมีสื่อจากต่างประเทศเข้าไปทำสารคดีมากขึ้น แนวทางที่จะเข้าไปยังพื้นที่ให้สะดวก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็คือการทำกระเช้า ซึ่งจะประหยัดกว่าการสร้างถนนเข้าไป ในขณะที่การสร้างถนนจะใช้งบประมาณ กิโลเมตรละ 2 ล้านบาทแต่ ถ้าเป็นการสร้างกระเช้าจะตกกิโลเมตรละ 1 ล้านบาท
         
ทางด้านนายหวางหลาย แซ่หลิน ได้มีการเสนอโครงการพัฒนาอุโมงค์ ค่ายใหญ่และขยายโครงการไม้ดอกเมืองหนาว เดิมบริเวณแห่งนี้เป็นค่ายใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย กลุ่มจางจงหมิง ที่เคยมีกองกำลังจำนวนกว่า 200 คน ใช้เป็นฐานที่มั่นเป็นเวลา 8 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2520-2528 ค่ายใหญ่แห่งนี้จะเป็นอุโมงค์มีทางเข้าออกถึง 16 ช่องทาง ภายในอุโมงค์มี 3 ชั้น ความยาวทั้งหมด 3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากหมู่บ้านปิยะมิตร 1 ประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ประมาณ 6 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเขตแดนไทย-มาเลเซีย ณ จุดสูงสุด 4,155 ฟุต ประมาณ 4 กิโลเมตร อุโมงค์ใหญ่แห่งนี้ใช้เป็นหน่วยบัญชาการ หน่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยจะมีการส่งวิทยุกระจายเสียง โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ มีโรงแสดง มีโรงงานผลิตอาวุธสงคราม เช่น ระเบิด ปืนกลมือ ปืนครก ปืนสั้น และหน่วยผลิตอาหาร ลักษณะของค่ายใหญ่ ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ชัน ทางทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นพื้นที่ราบ ด้านตะวันตกมีลำธารไหลจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือลงมาทางใต้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีลำธารไหลผ่านค่าย เมื่อปี 2528 ทหารไทยได้บุกเข้ายึดค่ายและได้อาศัยอยู่เป็นเวลา 9 เดือน ทหารช่างไทยได้ตัดถนนเข้าถึงค่ายใหญ่จากทางด้านปิยะมิตร 1 ที่เป็นทางชัน ออกสู่ปิยะมิตร 2 ที่เป็นทางลาดมีร่องรอยของทางที่ตัดไว้เป็นถนนอย่างชัดเจน ทหารไทยได้ทำการโค่นต้นไม้ใหญ่ในบริเวณค่าย และได้มีการทำลายปากทางเข้าออกอุโมงค์โดยระเบิดปากทางเข้าอุโมงค์ทั้ง 16 ช่องทางจนเสียหาย หากมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะเป็นจุดที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวน 90 ล้านบาท รวมทั้งโครงการพัฒนาไม้ดอกเมืองหนาว ที่มีนายเทียน ฮก ซื่อ เป็นผู้จัดการโครงการ
 
ส่วนหมู่บ้านปิยะมิตร 4 มีนายเตอะ เหอ แซ่โจว เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ได้มีการสำรวจอุโมงค์ไปแล้ว 3 จุด จากจำนวน 16 จุด พบว่ามีอุโมงค์ขนาดใหญ่ มีความยาว 1 กิโลเมตร และสั้นที่สุด 200 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านปิยะมิตร 4 ประมาณ 4 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ 2 จุด สามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ โดยชาวบ้านยินดีที่จะเข้าไปสำรวจร่วมกับทหาร หรือ ตชด.จะเป็นวันใดก็ได้
 
อุณหภูมิของสถานที่ตลอดทั้งปี ช่วงกลางวัน 18-28 องศาเซลเซียส กลางคืน 10-18 องศาเซลเซียส ช่วงที่มีอากาศหนาวมากที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,100-1,200 เมตร และจะมีหมอกปกคลุม ช่วงเดือน ธันวาคม – กุมภาพันธ์ ลักษณะของค่ายใหญ่ ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ชัน ทางทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นพื้นที่ราบ ด้านทิศตะวันตกมีลำธารไหลจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือลงมาทางด้านใต้ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีลำธารไหลผ่านค่าย
         
          เฉพาะโครงการพัฒนาอุโมงค์ค่ายใหญ่ โดยการซ่อมปากทางเข้ากั้นด้วยปูนและเหล็กเพื่อเสริมความแข็งแรงจำนวน 16 ช่องทาง งบประมาณ 4 ล้านบาท ซ่อมห้องใต้ดิน 8 แห่ง 1.6 ล้านบาท ปรับเส้นทางภายในอุโมงค์ ระยะทาง 3 กิโลเมตร 9 แสนบาท และปรับปรุงค่ายพัก 5 ล้านบาท รวมงบประมาณที่จะพัฒนาค่ายใหญ่ จำนวน 11.5 ล้านบาท
 
          นอกจากนี้ กรมการคณะกรรมการพัฒนาอุโมงค์ประวัติศาสตร์หมู่บ้านปิยะมิตร 1-4 ยังได้เสนอโครงการไม้ดอกเมืองหนาวพื้นที่ 50 ไร่ เพื่อปลูกดอกเบญจมาศ จำนวน 40 ไร่ และพื้นที่ปลูกผักน้ำ 10 ไร่ และมีการเสนองบการลงทุน จำนวน 86.7 ล้านบาท เพื่อปรับถนนเข้าค่ายใหญ่ เดินสายไฟฟ้าจากหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ถึงค่ายใหญ่ระยะทาง 6 กิโลเมตร ปลูกดอกเบญจมาศ ปลูกผักน้ำ สร้างห้องอาหาร 1 หลัง สร้างร้านขายของที่ระลึก 1 หลัง ฟื้นฟูค่ายใหญ่แบบดั้งเดิม สร้างรีสอร์ท 30 ห้อง สร้างบังกาโล 20 หลัง สร้างเส้นทางเดินป่า และจุดวางแคมป์ สร้างพิพิธภัณฑ์สมบูรณ์แบบ   และในการระดมทุน กรมการฯ มีความเห็นว่า จะขายหุ้นให้ชาวปิยะมิตร1-4 หุ้นละ 1,000 บาท จำนวน 20 ล้านบาท ขายหุ้นให้บุคคลทั่วไป หุ้นละ 1,000 บาท จำนวน 20 ล้านบาท และเงินกู้จากรัฐบาลไทย ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 50 ล้านบาท โดยจะมีระยะเวลา คืนทุน จำนวน 50 ล้านบาท   โครงการที่เสนอมาทั้งหมด ร่างขึ้นโดยนายโตหอง แซ่หลี่ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ปัจจุบันเป็นผู้จัดการนิวเฟรนด์ทัวร์ และเป็นอุปนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จังหวัดสงขลา 
 
แต่โครงการที่มีการเสนอรัฐบาล กลับพบว่ามีปัญหาอยู่หลายจุดคือ พื้นที่อุโมงค์ส่วนใหญ่ถูกรัฐบาลประกาศให้อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ   ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ดังนั้นการที่จะเข้าไปกระทำการใด ๆ โดยพละการ จึงเป็นการที่กระทำผิดกฎหมาย ที่รัฐจะต้องมีการแก้ไขต่อกฎระเบียบ เพื่อให้มีการพัฒนาพื้นที่ เพื่อการท่องเที่ยว อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับ พลเมืองของประเทศโดยส่วนรวม และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงของภาคใต้ ที่เกิดขึ้นให้สงบร่มเย็นได้อีกทางหนึ่ง   
         
* * * * * * * * * * *                           
 

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com