www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 107 คน
 สถิติเมื่อวาน 46 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2582 คน
14406 คน
1706850 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

ประวัติความเป็นมาของ องค์การเหมืองแร่ในทะเล (อ.ม.ท.)
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
ที่มา:รายงานของ อ.ม.ท.ปี 2535
 
          องค์การเหมืองแร่ในทะเล มีชื่อย่อว่า อ.ม.ท. เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2518 โดยรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ อ.ม.ท.เข้าถือประทานบัตรและทำเหมืองแร่ในทะเลแทนบริษัท ไทยแลนด์เอ็กซโปรเรชั่น จำกัด ( เท็มโก้ ) ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ อ.ม.ท.ได้รับทุนประเดิมจากเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินงานขั้นต้น 22.81 ล้านบาท และไม่ได้รับเพิ่มอีก การดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง อ.ม.ท. ได้กู้เงินจากแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ คือ กู้จากสถาบันการเงิน INTER ALPHA ASIA (SINGAPORE) จำนวน 6,000,000 เหรียญสหรัฐ และจาก NEDERLANDS MIDDENSTANDS BANK จำนวน 18,020,000 ดัชท์กิลเดอร์ส คิดเป็นเงินไทยประมาณ 300 ล้านบาท สั่งต่อเรือขุดแร่ชนิดบักเก็ตขนาด 4,000 ตัน จำนวน 1ลำ โดยว่าจ้างบริษัท MINNG TRANSPORT ENGINEERING B.V. ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ต่อ โดยต่อที่อู่เรือ SEMBAWANG ประเทศสิงคโปร์ อ.ม.ท. ได้รับมอบเรือขุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2523 และลากจูงกลับประเทศไทยโดยเรือลากจูงของ อ.ม.ท. ตั้งชื่อว่าเรือขุด “บ่อดาน ” และเริ่มทำการขุดแร่เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2524
 
          อ.ม.ท.ได้ว่าจ้างต่อเรือบริการเพื่อช่วยดำเนินงานในโครงการขุดแร่อีก 6 ลำ โดยกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ ต่อเรือลากจูงระวาง 300 ตันกรอส กำลัง 2,500 แรงม้า 1 ลำ เรือบริการเอนกประสงค์ ระวาง 105.98 ตันกรอส กำลัง 365 แรงม้า 3 ลำ เรือยนต์เร็วตรวจการและรับส่งผู้โดยสาร ระวาง 48.83 ตันกรอส กำลัง 380 แรงม้า 1 ลำ และเรือเจาะสำรวจ ระวาง 23.2 ตันกรอส กำลัง 250 แรงม้า พร้อมเครื่องมือเจาะสำรวจสามารถเจาะชั้นดินได้หนา 30 ฟุต 1 ลำ
 
          การลงทุนต่อเรือทั้งโครงการใช้เงินกู้เป็นทุนดำเนินการในวงเงิน 424.28 ล้านบาท โครงการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2521 ปัจจุบัน อ.ม.ท.ได้ชำระคืนเงินกู้ที่กู้ยืมมาหมดสิ้นแล้ว
 
 
วัตถุประสงค์ การจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ในทะเล อ.ม.ท.
องค์การเหมืองแร่ในทะเล มีชื่อย่อว่า อ.ม.ท.ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การเหมืองแร่ในทะเล พ.ศ.2518 โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเหมืองแร่ประกอบอุตสาหกรรมจากแร่หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง โดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นทุนดำเนินการเพื่อทำประโยชน์ให้เกิดแก่ประเทศอย่างเต็มที่
 
          นอกจากนี้ ในการแบ่งประเภทของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ อ.ม.ท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐบาลและรัฐบาลในสมัยต่าง ๆที่ผ่านมาได้มอบหมายนโยบายพิเศษให้แก่     อ.ม.ท. เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของเรือแพดูดดำแร่ในเรื่องของการบุกรุกเขตประทานบัตรผู้อื่นตลอดจนการแก้ปัญหาลักลอบนำแร่ออกนอกประเทศ พอสรุปได้ดังนี้
 
*ประกอบธุรกิจเหมืองแร่
*ประกอบอุตสาหกรรมจากแร่
*ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบการตาม 2 ข้อ ข้างต้น และขยายความ ดังนี้
 
1.) ให้ อ.ม.ท. จัดสรรพื้นที่การทำเหมืองแร่ให้เรือแพดูดแร่ เพื่อดำเนินการทำเหมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งให้ทำการรับซื้อแร่จากเรือแพดูดดำแร่ในเขตประทานบัตรของ อ.ม.ท.
 
2.) ให้ อ.ม.ท. จัดแบ่งพื้นที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา เพื่อดูแลควบคุมเรือแพดูดดำแร่เข้าทำการ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงาเป็นผู้รับซื้อแร่จากเรือแพดูดดำแร่ในเขตประทานบัตรของ อ.ม.ท.
 
3.) ให้ อ.ม.ท. ร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยราชการต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ป้องกันการลักลอบนำแร่ออกนอกประเทศ
 
4.) ให้ อ.ม.ท. ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเรือแพดูดดำแร่ อาทิเช่น การจดทะเบียนเรือแพ การจ่ายเงินอุดหนุนให้ชาวเรือแพในช่วงขณะที่ราคาแร่ตกต่ำและมีการลดค่าภาคหลวง นอกจากนี้ อ.ม.ท.ยังต้องดำเนินการรับซื้อแร่ที่เกินโควต้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าเพื่อป้องกันการลักลอบนำแร่ออกนอกประเทศด้วย
 
 
อำนาจในการดำเนินการ ของ อ.ม.ท.
1.) สร้าง ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า ซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองมีทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้
 
2.) ว่าจ้างหรือรับจ้างทำกิจการที่เกี่ยวกับธุรกิจเหมืองแร่หรืออุตสาหกรรมจากแร่
 
3.) กู้ ให้กู้ ยืมหรือให้ยืม โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือด้วยทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แก่กิจการของ อ.ม.ท. การกู้ยืมเงินถ้าเป็นจำนวนเงินเกินคราวละห้าล้านบาท ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน 
 
4.)ร่วมกิจการ หรือ ร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ อ.ม.ท. รวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัด ความรับผิดชอบในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
 
5.)สั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักรอุปกรณ์ และวัตถุดิบเพื่อใช้ในกิจการตามวัตถุประสงค์ขององค์การเหมืองแร่ในทะเล
 
6.) ตั้งหรือรับเป็นตัวแทน ตัวแทนค้าต่าง หรือนายหน้า อันเกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์ของ อ.ม.ท.
 
7.) กระทำกิจการอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ อ.ม.ท.
 
 
ลักษณะการดำเนินงานของ อ.ม.ท.
การดำเนินงานของ อ.ม.ท. ได้จัดแบ่งพื้นที่ประทานบัตรที่มีอยู่ออกหารายได้เป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
 
1.) ขุดแร่ด้วยเรือบ่อดานของ อ.ม.ท. เองในบริเวณพื้นที่ที่ได้เลือกสรรว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งแร่เหมาะสมกับความสามารถในการขุดของเรือ
 
2.) ว่าจ้างบริษัทเอกชนขุดแร่
 
3.) ตั้งตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ จากเรือแพดูดดำแร่เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการก่อม็อบของบรรดาเรือแพดูดดำแร่ที่ผิดกฎหมาย และเพื่อเป็นการควบคุมเรือแพดูดดำแร่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการค้าแร่เถื่อน ทำให้รัฐบาลขาดรายได้จำนวนมหาศาล การแบ่งที่ให้เรือแพดูดดำแร่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา
 
4.) ให้เช่าช่วงประทานบัตรในบริเวณพื้นที่ที่เคยผ่านการทำเหมืองมาแล้ว       
 
 
                     ผลการดำเนินการของ อ.ม.ท.ระหว่างปี 2518-2535   
จากการดำเนินงานทั้ง 4 ลักษณะข้างต้น ตั้งแต่ อ.ม.ท. เริ่มดำเนินการในปี 2518 จนถึงปีงบประมาณ 2535 อ.ม.ท. สามารถทำกำไรสะสมจากการดำเนินงานได้ รวมทั้งสิ้นประมาณ 360.71 ล้านบาท นำส่งเงินรายได้แผ่นดินให้กระทรวงการคลัง 193.64 ล้านบาท ทำรายได้ให้รัฐบาลในรูปค่าภาคหลวงและเงินบำรุงพิเศษประมาณ 1,288.54 ล้านบาท ปัจจุบัน (ปี 2535) อ.ม.ท.มีพนักงานทั้งสิ้น 204 คน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 5 กอง 2 สำนัก และมีสำนักงานติดต่อและประสานงานสาขาที่กรุงเทพ ฯ
 
การดำเนินงานของ อ.ม.ท. สามารถตอบสนองนโยบายของรับบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยสรุปดังนี้
 
1.) เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีระบบและเนื่องจากวิธีและเทคนิคการทำเหมืองแร่ที่ถูกต้องตามหลักวิชา
 
2.) ทำให้เกิดการกระจายอุตสาหกรรมออกสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก จากกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานของ อ.ม.ท. เช่น กิจการโรงถลุงแร่ โรงแต่งแร่ โรงแต่งมูลแร่และแร่พลอยได้ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่ต่าง ๆ ด้านการทำเหมือง ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคภาคใต้ 
 
3.) เป็นกลไกของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทำเหมืองแร่ในทะเลที่ผิดกฎหมาย ที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ประเทศชาติเสียหาย
 
4.) ทำให้เกิดการสร้างงาน โดยเฉพาะการจ้างแรงงานในชนบท
 
 
โครงสร้างการแบ่งส่วนงานและอัตรากำลัง
อ.ม.ท. ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนงานหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายได้รับความเห็นชอบให้ใช้โครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532 เพื่อความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินงานโครงสร้างการแบ่งส่วนงานใหม่ มีพนักงานและลูกจ้างประจำทั้งหมด 254 อัตรา ประกอบด้วย
 
ผู้อำนวยการองค์การเหมืองแร่ในทะเล                                                 1 อัตรา
รองผู้อำนวยการองค์การเหมืองแร่ในทะเล                                            1 อัตรา
สำนักผู้อำนวยการ                                                                        6 อัตรา
สำนักผู้ตรวจสอบภายใน                                                                 7 อัตรา
สำนักงานติดต่อและประสานงาน(กรุงเทพ)                                            19 อัตรา
กองกลาง                                                                                  39 อัตรา
กองการเงินและบัญชี                                                                     21 อัตรา
กองควบคุมการผลิต                                                                      21 อัตรา
กองเรือขุด                                                                                 97 อัตรา
กองเรือบริหาร                                                                             42 อัตรา
                       รวม                                                                  254 อัตรา
 
 
รายนามคณะกรรมการบริหาร
คณะกรรมการ อ.ม.ท.มีจำนวน 11 ท่าน ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 3 ปี ประกอบด้วย
1.) คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามกฤษฎีกาจัดตั้ง อ.ม.ท. จำนวน 4 ท่าน คือ
          -ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
          -อธิบดีกรมธนารักษ์
          -เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
          -ผู้อำนวยการองค์การเหมืองแร่ในทะเล     
 
2.)คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 7 ท่าน คือ
          -ประธานกรรมการ
          -รองประธานกรรมการ
          -กรรมการอื่น 5 ท่าน
 
 
รายนามคณะกรรมการ อ.ม.ท. (ระหว่างเวลา 21กค.2533-20ก.ค.2536)
1.)   นายวิสิทธิ์ น้อยพันธุ์                                                               ประธานกรรมการ
2.)   นายปรีชา   อรรถวิภัชน์                                                            รองประธานกรรมการ
3.)   ผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4                                                           กรรมการ
4.)   นายยิ่งยง   ศรีทอง                                                                กรรมการ
5.)   นายพิชัย   เศรษฐพานิช                                                          กรรมการ
6.)   นายพงศ์ศักดิ์   จิรชัยประวิตร                                                     กรรมการ
7.)   นายอร่าม    ฉันทภิญญา                                                          กรรมการ
8.)   อธิบดีกรมธนารักษ์                                                                 กรรมการ
       (นายกรุงไกร ภัทรโกมล ผู้แทน โดยตำแหน่งตามกฎหมาย )
9.)   เลขาธิการคระกรรมการกฤษฎีกา                                                 กรรมการ
       (นายไมตรี ตันเต็มทรัพย์ ผู้แทน โดยตำแหน่งตามกฎหมาย)
10.) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ                                              กรรมการ
        (นางจิระพรรณ นิรัติศัย โดยตำแหน่งตามกฎหมาย)
11.) ผู้อำนวยการองค์การเหมืองแร่ในทะเล                                          กรรมการและเลขานุการ
        (นายอัคนี สิโรรส โดยตำแหน่งตามกฎหมาย ) 
 
 
ปัญหาข้อจำกัดของ อ.ม.ท.
          การดำเนินงานของ อ.ม.ท. ที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาและข้อจำกัดที่สำคัญดังนี้
1.) สภาวะราคาแร่ดีบุกตกต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทำให้องค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น อ.ม.ท. ไม่สามารถแปรผันไปตามการหดตัวของธุรกิจได้อย่างทันท่วงที เกิดภาวะรายได้ไม่คุ้มกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น
 
2.) ภาวะพนักงานที่มากเกินจำนวนไม่สมดุลกับปริมาณงานที่หดตัวลง
 
3.) กิจกรรมที่เคยก่อให้เกิดรายได้ลดลง ด้วยสาเหตุใหญ่ที่ราคาแร่ดีบุกตกต่ำมาก
 
4.) ทรัพย์สินหลักของ อ.ม.ท. ได้แก่เรือขุดแร่และเรือบริการ ไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้ เพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น
 
5.) อ.ม.ท. มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ มีระเบียบและการจัดรูปแบบองค์กรที่ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพการอย่างทันท่วงที และมีวัตถุประสงค์เพื่อทำเหมืองแร่ดีบุกในทะเลเพียงอย่างเดียว ในภาวการณ์ราคาแร่ดีบุกตกต่ำทำให้ อ.ม.ท. ไม่สามารถแปรรูปธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกในทะเลไปสู่ธุรกิจเหมืองแร่ประเภทอื่นที่เหมาะสม โดยใช้ความชำนาญที่มีอยู่
                                                                    
 
นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
          ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2535-2539 ได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการร่วมพัฒนารัฐวิสาหกิจ ดังนี้
1.) ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรระบบการบริหารและการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้คล่องตัวและเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้น
 
2.)  ปรับปรุงกฎระเบียบภายในของรัฐวิสาหกิจ ให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานและเพิ่มบทบาทการดำเนินงานรวมกับภาคเอกชน
3.) ให้มีการประเมินผลภายในรัฐวิสาหกิจ
 
4.)วางแผนพัฒนาบุคลากรและค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสภาพตลาดแรงงานและการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ
 
 
แนวทางการแก้ปัญหาของ อ.ม.ท.และการดำเนินงานในอนาคต
          อ.ม.ท. ได้พยายามทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถอยู่รอดและเลี้ยงตัวเองได้ต่อไป โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของนโยบายรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน อ.ม.ท. อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ลงให้มากที่สุด รวมถึงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการร่วมพัฒนา อ.ม.ท. เพื่อดำเนินงานในอนาคต ดังนี้
 
1.) หาแหล่งแร่สำรองใหม่ เพื่อทดแทนพื้นที่ประทานบัตรที่ อ.ม.ท. มีอยู่เดิมซึ่งนับวันมีแต่จะหมดไปจากการดำเนินงานในลักษณะต่าง ๆ อ.ม.ท. จึงมีโครงการต่อเนื่องในการหาแหล่งแร่สำรอง ที่มีปริมาณคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ เพื่อขออนุญาตประทานบัตรทดแทนพื้นที่ประทานบัตรเดิมที่กำลังจะหมดลง
 
2.) ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเรือขุดบ่อดานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมาย
 
3.) ปรับปรุงโครงสร้างขององค์กร และลดจำนวนพนักงานลงให้มากที่สุด โดยให้สมัครใจออกหรือเลิกจ้างในบางตำแหน่งที่หมดความจำเป็น รวมถึงการวางมาตรการในการประหยัดค่าใช้จ่าย และได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานในการยอมเสียสละสิทธิพึงมีพึงได้บางประการ
 
4.) อ.ม.ท. ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจเข้ายื่นข้อเสนอในการเข้าร่วมงานหรือดำเนินการกับ อ.ม.ท. และมีเอกชนผู้สนใจเข้ายื่นข้อเสนอ จำนวน 3 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่าง ขั้นตอนการว่าจ้างบริษัทเอกชน เพื่อประเมินราคาทรัพย์สิน และมูลค่าแร่ในประทานบัตร อ.ม.ท. เพื่อประกอบการพิจารณาข้อเสนอของบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ อ.ม.ท. จะได้รับต่อไป
 
บทสรุป
          อ.ม.ท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรับบาลเมื่อปี พ.ศ.2518 เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาการทำเหมืองแร่ในทะเลที่ผิดกฎหมาย และเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างสูงสุด จากผลการดำเนินงานของ อ.ม.ท. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2518 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2535 ได้รับทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน 22.814 ล้านบาท สามารถทำกำไรสะสมจากการดำเนินงานได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 360.71 ล้านบาท นำส่งเงินรายได้แผ่นดินให้กระทรวงการคลัง 193.64 ล้านบาท ทำรายได้ให้รัฐบาลในรูปค่าภาคหลวงและเงินบำรุงพิเศษประมาณ 1,288.54 ล้านบาท รวมถึงการก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในชนบทและการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
 
          และสำหรับการดำเนินการต่อไปอนาคต อ.ม.ท.ได้วางแนวทางเพื่อปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และระบบการบริหารให้คล่องตัวเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้เอกชนผู้สนใจเข้ามาร่วมงานหรือดำเนินงานกับ อ.ม.ท. เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมต่อไป
 
* * * * * * * * * * * * *

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com