www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 1 คน
 สถิติเมื่อวาน 115 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2591 คน
14415 คน
1706859 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 
ปูมหลังการทำเหมืองดีบุกแร่ในทะเล
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
ที่มา:3 ปี อ.ม.ท.ข้อมูล พ.ศ.2521
http://www.narongthai.com
 
         8 ธันวาคม 2484 วันเริ่มต้นของสงครามเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นได้เปิดฉากบุกรบด้านแปซิฟิค ขึ้นหลายแห่ง และในประเทศไทยนั้น หลังจากที่ได้มีการต่อต้าน ณ ที่บางจุดแล้ว กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ทำความตกลงกับรัฐบาลไทยได้ด้วยวิธี.........
 
         เหมืองแร่ดีบุกอันเป็นทรัพย์สินของบริษัทอังกฤษและออสเตรเลียที่มีอยู่จำนวนมากทางภาคใต้ของประเทศไทย จำเป็นต้องถูกละทิ้ง ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดการส่งเจ้าหน้าที่เข้าพิทักษ์รักษาไว้เป็นการเฉพาะหน้า และด้วยนโยบายหลายประการ รัฐบาลไทยจึงได้จัดตั้งบริษัทแร่และยางไทยจำกัด ขึ้นในรูปของบริษัทรัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินการกิจการเหมืองแร่ภายใต้ความอารักขาดังกล่าวนั้นต่อไป ซึ่งได้ผนึกกิจการของยางพาราเข้าไปรวมด้วย ในการดำเนินการครั้งนี้รัฐบาลจำต้องระดมวิศวกรจากหลายสาขาจากหลายแห่งเข้ามาปฏิบัติการพร้อม ๆ กับได้เร่งรัดการผลิตวิศวกรเหมืองแร่และนักธรณีวิทยาเหมืองแร่ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะนักวิชาการเหมืองแร่ขณะนั้นยังมีจำนวนน้อย นับว่าเป็นก้าวแรกที่นักวิชาการไทยได้เข้าไปเริ่มต้นมีบทบาทในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกอยางจริงจัง
 
         ความไม่เพียงพอในจำนวนวิศวกรยังคงมีอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเหมืองแร่ในอารักขาขณะนั้น บริษัทแร่และยางไทยจำกัด หรือเรียกย่อ ๆ ว่า บ.ร.ย.จึงเปิดเหมืองแร่ไม่ได้ครบทุกเหมือง คงเลือกเฉพาะเหมืองที่มีความสำคัญในด้านการปกครองท้องที่ขึ้นมาดำเนินการไปพรางก่อน เหมืองแร่ที่มีความสำคัญมากจะอยู่ที่ภาคตะวันตกของไทยเป็นส่วนใหญ่ หนึ่งในจำนวนเหมืองแร่แถบนี้มีประทานบัตรอยู่ในทะเล อันเป็นผลงานบุกเบิกของกัปตันเอ็ดวาร์ดทีไมล์  ชาวทาสเมเนีย (ประเทศออสเตรเลีย) ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นการให้กำเนิดเรือขุดแร่ดีบุกในทะเลลำแรกของโลก นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่วิศวกรไทยได้เข้าไปเรียนรู้เทคนิคการขุดแร่ดีบุกในทะเล อย่างไรก็ดีเทคนิคดังกล่าวยังมีขอบเขตจำกัดอยู่เพียงในทะเลแคบ ๆ ของอ่าวทุ่งคา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีที่กำบังลมโดยอาศัยภูมิประเทศของตัวเกาะ จนเรือขุดแร่สามารถทำการได้ตลอดทั้งปีโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ 
 
         ตามวิสัยของคนหนุ่ม และด้วยทฤษฎีการกำเนิดของแหล่งแร่ดีบุกในยุคนั้น ทำให้เกิดความคิดคำนึงถึงแหล่งแร่ดีบุกใหม่ ๆ ที่อยู่ในทะเลไกลออกไป...ไกลออกไป แต่ความคิดดังกล่าวต้องสะดุดหยุดลงด้วยสภาพของดินฟ้าอากาศ กล่าวคือ ทะเลในแถบนี้จะต้องเผชิญกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อันหนักหน่วงถึงปีละไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ด้วยความพยายามของวิศวกรไทยหนุ่ม ๆ ที่ทดลองนำเรือขุดแร่ในสมัยนั้น ซึ่งยังมีขนาดเล็กตามสายแร่ออกไป ในทะเลนอกฝั่งที่ยังมีที่กำบังลมอยู่ ประสบการณ์บอกคนเหล่านี้ให้รู้ว่า การปรับปรุงสภาพเรือขุดเพื่อรับกับสภาพคลื่นลมยังพอมีทางกระทำได้ แต่ความคิดดังกล่าวต้องจางหายไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง เหมืองแร่ต่าง ๆ ของบริษัทแร่และยางไทยได้ถูกโอนกลับคืนไปเป็นเจ้าของเดิม บริษัทแร่และยางไทยจำกัด จึงเลิกกิจการและชำระบัญชี ในพ.ศ. 2489
 
 
         วิศวกรเหล่านั้นได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพตามช่องทางความรู้ความสามารถของแต่ละคน หลายคนได้หันหลังให้อาชีพเหมืองแร่ไปเลย คงมีบางคนเท่านั้นที่ยังคงยึดมั่นในอาชีพนี้ โดยร่วมงานกับบริษัทเจ้าของเดิมต่อไป เมื่อโลกกลับคืนสู่สภาพปกติ การเร่งรัดพัฒนาเพื่อกอบกู้ความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจในระหว่างสงครามเข้ามาแทนที่ในแต่ละประเทศและราคาดีบุกในตลาดโลกได้กลับฟื้นตัวและถีบตัวสูงขึ้นไป...ขึ้นไป แหล่งแร่ที่เคยไม่แน่ใจมาแต่เดิมกลับกลายเป็นแหล่งแร่ชั้นดีขึ้นมา พื้นที่ทะเลนอกฝั่งด้านในของเกาะภูเก็ตที่อาศัยตัวเกาะภูเก็ตเป็นกำบังลม จึงได้มีเหมืองเรือขุดขนาดใหญ่เกิดขึ้น และมีรัฐบาลไทยพร้อมทั้งคนไทยอื่น ๆ ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย นั่นก็คือ บริษัท อ่าวขามทิน จำกัด ซึ่งยังคงขุดแร่มาจนทุกวันนี้ (ปีพ.ศ.2521)
 
         รัฐบาลไทยได้ตระหนักเป็นอย่างดีถึงศักยภาพทางแร่ดีบุกของประเทศไทยว่ายังมีอยู่อีกมาก จากทั้งแหล่งบนบกและไกลออกไปในทะเล และด้วยการเล็งเห็นการณ์ไกล รัฐบาลไทยจึงได้เข้าร่วมมีบทบาทกับสหประชาชาติ นับตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกเพื่อที่จะให้มีการตรึงระดับราคาผลิตภัณฑ์ขั้นปฐมขึ้น อันเป็นผลให้เกิดคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ ในโอกาสต่อมา ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีด้วย นับมาจนบัดนี้ (ปัจจุบัน คณะมนตรี ได้ยุบเลิกไปแล้ว) เป็นอีกก้าวหนึ่งของนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ของไทย
 
         เมื่อราคาดีบุกมีเสถียรภาพมั่งคงเพียงพอ การลงทุนจากต่างประเทศจึงติดตามมา เริ่มด้วยการจัดตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกขนาดใหญ่ทันสมัยขึ้นที่อ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต และเพื่อขจัดความวิตกกังวลของผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ดีบุกที่มีอยู่ก่อนแล้วขณะนั้น ถึงปัญหาการห้ามส่งแร่ดีบุกที่ยังมิได้ถลุงออกจำหน่ายต่างประเทศเหมือนดั่งที่เคยยอมให้ปฏิบัติมาแต่ก่อน รัฐบาลจึงได้ยอมรับให้ใช้มาตรการซื้อขายแร่ของโรงถลุงดีบุกที่ประเทศมาเลเซียเป็นเกณฑ์ปฏิบัติ ในขณะที่ปริมาณแร่เข้าโรงถลุงของมาเลเซีย ขณะนั้นมีประมาณ 3 เท่าของไทย จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่จะต้องมีนโยบายเร่งบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพทางดีบุกดีอยู่แล้ว ให้บังเกิดเหมืองแร่เพื่อเพิ่มปริมาณผลิตดีบุกให้มากยิ่งขึ้น ดังได้มีคำขวัญของรัฐบาลระยะนั้นว่า “แร่เป็นทรัพยากรป้อนเศรษฐกิจ จงช่วยกันผลิตเพื่อพัฒนาประเทศ” พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็ได้ยกเลิกนโยบายภาคปิดที่กำหนดให้การทำเหมืองแร่ในพื้นที่เหนือจังหวัดชุมพร ขึ้นมาจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างด้วย ผลผลิตดีบุกของไทย จึงได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับสมตามเจตนารมณ์ ของรัฐบาลทุกประการ
 
         เป้าหมายใหม่ของพื้นที่ที่จะทำการบุกเบิกเพื่อเพิ่มผลผลิตแร่ดีบุก อยู่ที่ทะเลอันดามัน เวิ้งว้างสุดสายตา นอกฝั่งด้านตะวันตกของจังหวัดภูเก็ต พังงา และแผ่ขยายขึ้นไปถึงจังหวัดระนองอันเป็นแหล่งแร่ดีบุกอุดมอยู่แล้ว ทะเลด้านนี้เป็นทะเลเปิด มีเกาะแก่งกำบังลมแต่อย่างใด แต่ด้วยความหวังเพียงว่า ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ คงจะช่วยบันดาลให้เกิดกรรมวิธีผลิตที่สามารถสู้แรงลมและคลื่นในฤดูมรสุมได้ไม่มากก็น้อย นับว่าเป็นความหวังที่ออกจะท้าทายนักบุกเบิกรุ่นใหม่อยู่มาก เพียงแต่ว่าขอให้ได้พบแร่ดีบุกในทะเลก่อนเท่านั้น...
 
         ทฤษฎีการก่อกำเนิดแหล่งแร่ดีบุกในทะเลอันดามันของสมัยต้น ยังคงยึดถืออยู่กับการพัฒนาจากที่สูงลงที่ต่ำ นักบุกเบิกชุดแรกจึงประสบกับการผิดหวัง เนื่องจากไปเริ่มต้นสำรวจโดยใช้ชายหาดเป็นหลัก หลุมสำรวจในทะเลที่กำหนดไว้จึงห่างเกินไปทำให้พลาดแหล่งแร่ไปอย่างน่าเสียดาย ต่อเมื่อแนวคิดใหม่ได้เป็นที่ยอมรับกันว่า แหล่งแร่ดีบุกในทะเลประกอบด้วยทั้งส่วนที่ถูกพัดพาและส่วนที่อยู่ในทะเลเอง จึงเปิดทางให้นักบุกเบิกรุ่นหลังเข้ามามีโอกาสท้าทายด้วยได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าใบพัดของเรือหางยาวที่ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศไทยได้มีส่วนเป็นอย่างมากต่อการพบตัวแหล่งดีบุกนอกชายฝั่งครั้งนี้ โดยบังเอิญที่ไปเกยตื้นเข้า แหล่งดีบุกอันสมบูรณ์ในทะเลอันดามันของไทยจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันไปทั่วโลก และเรือหางยาวเจ้าของบทบาทสำคัญในการพบแหล่งแร่ดีบุกนอกฝั่งก็ได้พัฒนาตัวเองในโอกาสต่อมา จนกลายเป็นวิธีการขุดแร่แบบใหม่ที่สร้างปัญหาแพร่สะพัดไปในวงการเหมือนแร่และวงการนักบริหารของไทยเป็นอย่างมาก บริษัทของนักบุกเบิกรุ่นหลังนี้ เป็นบริษัทที่มีนักการเมืองของไทยหนุนหลังอยู่ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทย สมัยต่อมา จึงได้เกิดชะตากรรมอย่างร้ายแรงแก่นโยบายผลิตดีบุกของชาติที่มีมาแต่เดิม ดังจะได้รวบรวมมาให้ปรากฏพอเป็นสังเขป เพื่อที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ใช้เป็นอนุสติในการธำรงรักษาสมบัติอื่น ๆ ของชาติสืบไป องค์การเหมืองแร่ในทะเล จึงได้มีกำเนิดขึ้นมา เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และรื้อฟื้นการผลิตให้กลับคืนสู่สภาพปกติเท่าที่จะกระทำได้ในระยะเวลาอันจำกัด
 
* * * * * * * * * * * *

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com