www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 1 คน
 สถิติเมื่อวาน 35 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2625 คน
14449 คน
1706893 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

  

           

ลุงชัย ตอนเป็นทหาร
ผู้เขียนกับลุงชัย
ปลาทอดขมิ้น
แกงกะทิสายบัว
แกงหมูหยวกกล้วย
ปลาทูและปลาหมอหยอง
ปลาทูต้มเต้าเจี้ยว
แกงส้มปลากด
ชีวิตนักข่าว...ร้านอาหารลุงชัย
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
27 พฤศจิกายน 2552

เวลาที่ผมกลับจากการประชุมประจำเดือนของหัวหน้าส่วนราชการ จังหวัดสงขลา ขากลับผมก็จะแวะมาทานอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารลุงชัย เป็นประจำ เพราะร้านอาหารแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนหาดใหญ่-สงขลา ถ้าไปจากสงขลาจะอยู่ซ้ายมือ ซึ่งอยู่ใกล้ 5 แยกเกาะยอ ร้านลุงชัยเป็นร้านอาหารมุงจาก มีป้ายบอกชื่อร้านเห็นตั้งแต่ไกล   หรือถ้าเห็นรถจอดเรียงรายอยู่ริมถนนหน้าร้านหลายคันก็ให้ สันนิษฐาน ได้เลยว่าถึงร้านลุงชัย หลังคามุงจาก 
 
ความพิเศษของร้านอาหารลุงชัย ก็คือ อาหารทุกชนิดเป็นอาหารพื้นบ้านปักษ์ใต้ และรสชาติก็เป็นแบบดั้งเดิม ที่มีแกง ต่าง ๆ ในรสที่จัดจ้าน เผ็ดมัน ผมต้องบอกท่านว่าผมไม่ใช่คนทางภาคใต้โดยกำเนิด ในเรื่องอาหารที่ผมจะเอ่ยต่อไปนี้อาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง อาทิ ปลาทอดขมิ้น ปลาหมอหยอง (คือ ปลาอีโต้มอญ ซึ่งเป็นปลาทะเล เอามาตากแดดเดียว แล้วเอามาทอดเรียกว่า ปลาหมอหยอง ผมก็ยังไม่รู้ที่มาว่าทำไมเรียกแบบนี้) นอกนั้นก็จะมีแกงส้มปลากด อันนี้อร่อย กว่าแกงส้มปลากะพง เพราะปลากด จะมีเนื้อนิ่ม ไม่คาว หมูฮ้อง (คือ คล้ายกับการทำพะโล้หมู ที่จะใช้เนื้อหมู 3 ชั้น แต่น้ำจะข้นกว่า หมูพะโล้ ครับ) ยังมีอาหารอีกหลายอย่างที่ผมจำได้ไม่หมด 
 
ที่นี้เรามาดูว่า ร้านลุงชัย มีความเป็นมาอย่างไร ลุงชัย เล่าว่า เดิมมีชื่อเสียงเรียงนาม ว่า ชัยกิจ จารุสาร แต่เมื่อไปรับราชการทหารเจ้าหน้าที่ธุรการเขียนชื่อผิด เป็น สิบตรีไชยกิจ  จารุสาร ตอนยังหนุ่มแน่น ก็หน้าตาหล่อเหลาเอาการ เพราะลุงชัยแกเอาบัตรประจำตัวสมัยที่ยังเป็นทหารมาให้ดู ก่อนหน้านั้น สะกดด้วยสระอัย ต่อมาเกิดความผิดพลาดทางทะเบียน จากที่สะกดด้วยสระอัย ก็กลายมาไป สระไอ ซึ่งก็คือ ไชยกิจ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผมบอกว่าก็ถือว่าเป็นมงคลดี เพราะลูกค้ามาทานอาหารเต็มร้านทุกวัน 
 
ลุงชัย เล่าให้ผมฟังอีกว่า ก่อนที่จะมาเปิดร้านอาหาร มีอาชีพขับเรือโดยสาร ที่คลุกคลี มาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เพราะพ่อมีเรือลำแรกชื่อ ทองหล่อ เป็นเรือขนาดเล็ก จุผู้โดยสารได้ประมาณ 30 คน แล่นอยู่ในทะเลสาบสงขลา ระหว่าง ระโนด-คลองแดน ต่อมาพ่อได้เปลี่ยนไปซื้อเรือ ชัยพล เป็นเรือขนาดกลางแล่นระหว่าง ปากพะยูน-สงขลา 
 
ลุงชัย เล่าวิธีการขับเรือว่า “ชอบดูแลเครื่องยนต์และชอบฟังเสียงกระดิ่งที่นายท้ายเรือให้สัญญาณไปยังอินทเนีย (เอ็นจิเนีย คือ ช่างเครื่อง) เพื่อสั่งให้เรือหยุด เดินหน้า หรือถอยหลัง ที่แรกผมยืนดูอินทเนียบังคับเครื่องยนต์ แต่พอนานเข้าผมก็สามารถทำเองได้และอินทเนียก็ปล่อยให้ผมทำเอง เขาขึ้นไปนอนและดูแลผมอยู่ห่าง ๆ เมื่อเริ่มคุมเครื่องใหม่ ๆ ผมตื่นเต้นกับเสียงกระดิ่ง พยายามท่องอยู่ในใจและรอว่าเมื่อไหร่นายท้ายจะสั่ง ผมจำได้ตั้งแต่วันแรก ๆ ว่าถ้ากระดิ่งดัง หนึ่ง ครั้ง จะเป็นสัญญาณให้ปลดเกียร์ว่าง กระดิ่งดังสองครั้งจะต้องใส่เกียร์ให้เรือถอยหลัง ถ้ากระดิ่งดังสามครั้ง จะให้เรือเดินหน้า ถ้ากระดิ่งรัวให้เร่งเครื่อง ถ้าดังรัวยาวเร่งเครื่องเต็มที่ อาจจะถอยหลังหรือเดินหน้าแล้วแต่นายท้ายสั่ง”  นี่เป็นวิธีการขับเรือในทะเลสาบสงขลา ของคนสมัยนั้นครับ
 
ลุงชัย ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ผมได้ทำงานเป็นเจ้าของเรือ ซึ่งเป็นงานที่ชอบ และคิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีปัญหาแล้ว แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นกับผมจนได้ คือ แม่ผมมาเสียชีวิตขณะที่น้องคนเล็กอายุได้ 7 วัน ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนผันทัน ผมต้องเสียสละให้กับน้อง ๆโดยตัวเองหยุดเรียนทันที ทั้ง ๆที่ตั้งใจว่าจะเรียนต่อทางช่าง ผมทำงานช่วยครอบครัวทุ่มเทให้กับน้อง ๆ จนกระทั่งน้อง ๆเรียนจบ ได้ประกอบอาชีพ มีฐานะทางครอบครัวพอสมควร ส่วนตัวผมต้องหากินบนผืนทะเลสาบ โดยมีความหวังว่าสักวันหนึ่งอนาคตจะสดใส
 
แต่จากนโยบายของรับบาลที่พยายามมุ่งพัฒนาประเทศ โดยการเร่งสร้างถนน ทำให้การสัญจรทางน้ำไม่ได้รับการเหลียวแลพัฒนา ทางเดินเรือเริ่มตื้นเขินเครื่องมือประมงก็มากขึ้น แต่ผู้โดยสารเรือเริ่มลดน้อยลง เพราะการเดินทางโดยรถยนต์สะดวกรวดเร็วกว่า ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารต่างพากันเลิกกิจการ แต่ผมก็คือผม ผมรักเรือเป็นชีวิตจิตใจ และหลงกลิ่นอายของทะเล หลังเติบโตมากับเรือ ทองหล่อ และเรือ ชัยพล ต่อมาผมก็ได้มีเรือ ยุคลศักดิ์ และเรือโชคชัยเจริญ ขณะนั้นค่าโดยสารเรือ ปากพยูน-สงขลา คนละ 2 บาท ภรรยาผมทำหน้าที่เก็บเงิน ผมเป็นนายท้ายเรือและช่างเครื่อง แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น ผมจำได้ว่า ผมเศร้าใจเป็นที่สุดเมื่อต้องลากเรือโชคชัยเจริญ เรือคู่ชีวิตลำสุดท้ายที่ใช้หากินมาอย่างยาวนาน ขึ้นจากทะเลสาบสงขลา มาขึ้นคานที่ปากรอ   ผมมองทีไรน้ำตาตกทุกที 
 
จนน้องดัดแปลงเรือโดยสารไปเป็นเรือขุดแร่ ก็ยังไม่ดี แต่ยังโชคดีที่มีเพื่อนรักชื่อ คุณบัญชา พานิชย์พงษ์ เจ้าของบริษัท ระโนดขนส่ง ที่ได้ให้อู่ซ่อมรถของบริษัท และทุนพอสมควรเพื่อขายอาหารเลี้ยงครอบครัว จนทำให้พ้นความยากลำบาก และได้ย้ายร้านมาอยู่ที่ขายปัจจุบัน นี่แหล่ะครับ
 
และถ้าท่านไปทานอาหารร้านลุงชัย ท่านจะเห็น รูปเรือ ติดอยู่ในร้าน และจะเห็นลุงชัยคอยยืนให้บริการลูกค้า ถ้าดูดี ๆจะเห็นว่า ลุงชัยแก่จะเหลือบมองเรือ ที่แสนรัก อยู่บ่อย ๆ ด้วยใจที่ห่วงหาอาทร ครับ 


* * * * * * * * * * *

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com