www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 7 คน
 สถิติเมื่อวาน 33 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2664 คน
11694 คน
1704138 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

ชีวิตนักข่าว...วันต่อวัน แทนทาลัม
10 กุมภาพันธ์ 2551 (รวบรวมความทรงจำ)

28 ธันวาคม 2522 บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท โดยมีโครงการสร้างโรงงานที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ปี พ.ศ. 2524 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นโรงงานถลุงแร่แทนทาลัมด้วยกรรมวิธีทางไฟฟ้าและเคมี โดยกรรมวิธีทางเคมีจะได้ผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดคือ แทนทาลัมแพนทอกไซต์ , ไนโอเนียมแพนทอกไซต์ และเคซอลต์ รวม 300 ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทส่วนกรรมวิธีทางไฟฟ้าเป็นโรงงานถลุงแร่เฟอร์โรแทนทาลัมและไนโอเนียม อัลลอย เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2527 บริษัท มีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 45 คน เป็นคนสัญชาติไทย 42 คน จำนวน 70,500 หุ้น คนต่างชาติ 3 คนรวม 2,000 หุ้น ผู้ถือหุ้นชาวไทยอยู่ในกลุ่ม บุญสูง งานทวี เอกวานิช โสภณพนิช สารสิน ส่วนชาวต่างชาติเป็นนายทุนชาวมาเลเซียคือ นายเอี๊ยบ ซุน ซิด , นายเจี่ย ก๊กเซียน และนายเยี๊ยบ ซุน อัน ในจำนวนผู้ถือหุ้นเป็นชาวภูเก็ต 64.40 % ชาวกรุงเทพ 3.22% ธนาคารโลก 12.38 % บริษัทเงินทุน 20 %

22 มกราคม 2525 ได้มีการลงนามในสัญญาการก่อสร้างกับบริษัทในประเทศอังกฤษโดยซื้อเทคโนโลยีมาจากบริษัท เฮอร์มันน์ ซี.สตาร์ก เบอร์ลิน จำกัด แห่งสาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก

12-18 มีนาคม 2527 หนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจ รายงานข่าวว่ามีคนต่างชาติผู้หนึ่งเข้าพบนายอบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสมัยนั้นยื่นข้อเสนอแก่นายอบว่า ยินดีจะจ่ายให้ทันที 100 ล้านบาท หากนายอบยอมเซ็นสัญญาอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานถลุงแร่แทนทาลัมแต่ถูกปฏิเสธ นายอบให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องยุติไปแล้วเพราะการวิ่งเต้นไม่เป็นผล เขามาขอให้ออกใบอนุญาตตั้งโรงงานถุงแร่แทนทาลัมจะต้องใช้เงินทุนถึง 2,000 ล้านบาท

27 เมษายน 2527 กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศเกี่ยวกับนโยบายอุตสาหกรรมถลุงแร่แทนทาลัม โดยเห็นควรระงับการพิจารณาอนุมัติให้ตั้งขยายโรงงานถลุงแร่แทนทาลัมไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและเพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ

11 กุมภาพันธ์ 2529 นายสุพล สุดารา (ถึงแก่กรรมประมาณ ปี 2545) ประธานชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม ให้สัมภาษณ์ว่า ทางชมรมได้ติดตามศึกษาปัญหามลพิษที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรงงานดังกล่าวอย่างใกล้ชิดว่า บริษัทจะมีมาตรการป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างไร

18 กุมภาพันธ์ 2529 นายประพาส ธนะกุล ผู้อำนวยการกองสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า กรมได้เรียกเอกสารต่างๆ ของบริษัทดังกล่าวมาศึกษาดูว่ามีมาตรการอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากไอระเหยของกรดไฮโดรฟูออริก และฝุ่นกัมมันตรังสี ในการยื่นขอโรงงานพบว่าการป้องกันไม่ไห้เกิดอันตรายน่าจะเป็นไปได้และการแยกแร่ดังกล่าวก็ใช้ระบบปิด โรงงานในประเทศเยอรมันก็ตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชนแต่ไม่เคยเกิดปัญหา โรงงานที่ภูเก็ตที่จะใช้มาตรการป้องกันเดียวกันจึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหา

19 กุมภาพันธ์ 2529 นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดตั้งโรงงานตนไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะควบคุมมลพิษได้ นักวิชาการของกระทรวงอุตสาหกรรมบางคนมีความเห็นว่าน่าจะได้มีการศึกษาผลกระทบก่อนการสร้างโรงงานว่า มีความปลอดภัยต่อประชาชนเพียงพอแต่ทางฝ่ายโรงงานไม่เห็นด้วยโดยอ้างว่าโรงงานติดต่อกู้เงินได้แล้ว ถ้ารอให้มีการวิจัยต้องใช้เวลานาน โรงงานต้องเสียดอกเบี้ย ในระหว่างการโต้แย้งนี้ มีการอนุมัติให้สร้างโรงงานโดยมีความเห็นว่าทำวิจัยไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงการสร้างโรงงานมาก่อนแล้วค่อยวิจัย เรื่องนี้ต้องมีอะไรลึกลับแน่นอน

3 มีนาคม 2529 กำนันผู้ใหญ่บ้าน เขตจังหวัดภูเก็ตทุกตำบลประมาณ 200 คน นำโดยนายอมร อนันตชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเดินทางไปยังโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม หมู่ที่ 6 ต.รัษฎา ถ.เทพกระษัตรี อ.เมืองภูเก็ต เพื่อศึกษาและพิสูจน์ข้องเท็จจริงที่มีข่าวว่าโรงงานนี้อาจก่อให้เกิดมลพิษแก่ประชาชนชาวภูเก็ตอย่างร้ายแรง และมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หลายครั้งเจ้าหน้าที่ได้เปิดโรงงานให้ชมอย่างทั่วถึงนายธรรมเรศน์ สุวรรณภาณุ ผู้จัดการฝ่ายบริหารและบุคคล นายเยี๊ยบ ซุน อัน กรรมการผู้จัดการ และนายอาทร ต้องวัฒนา ประธานสภาจังหวัดภูเก็ต และกรรมการบริษัท ได้ชี้แจงต่อบรรดา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่า บริษัทมีความมั่นใจสูงต่อมาตรฐานของโรงงานและระบบการควบคุมการปฏิบัติงานว่ามีความปลอดภัยขอให้ประชาชนหยุดวิตกกังวลอย่าหลงเชื่อตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น

10 มีนาคม 2529 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาการจัดตั้งโรงงานว่า ได้มอบให้นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้พิจารณาเรื่องว่ามีความถูกต้องเหมาะสมเพียงไร ประชาชนชาวภู เก็ตอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ว่าผู้ใหญ่ไม่เหลียวแล

15 มีนาคม 2529 นายจรูญ เสรีถวัลย์ อดีต ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จะยื่นญัตติต่อคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนเมษายน 2529

22 มีนาคม 2529 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ได้กำหนดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการสร้างโรงงานในวันที่ 22 มีนาคม 2529 โดยเชิญเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประธานชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยแลนด์ แทนทาลัม แต่ต้องงดงานนี้ชั่วคราวโดยอ้างว่าเมื่อปรึกษากับผู้ใหญ่แล้วเห็นว่ายังไม่พร้อม

19 พฤษภาคม 2529 ตัวแทนคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากร 15 สถาบันได้เข้าพบนายอนันต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยื่นจดหมายขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมยังยั้งการออกใบอนุญาตประกอบการโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม

1 มิถุนายน 2529 กลุ่มนักศึกษา 24 สถาบัน และกลุ่มชมรมอนุรักษ์ 15 สถาบันได้เป็นแกนนำประชาชนจังหวัดภูเก็ตทั้ง 3 อำเภอทั่วทุกตำบลเดินขบวนมารวมกันที่บริเวณตัวเมืองภูเก็ตมุ่งหน้าไปยังบริเวณสวนสาธารณะสะพาหิน อำเภอเมือง แสดงประชามติคัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลัม ประชาชนทั้งหมดรวมตัวกันประมาณ 60,000 คน มีนายสุรพล สุดาราประธานชมรมสิ่งแวดล้อมสยามและตัวแทนนักศึกษาประชาชนกล่าวปราศรัย "ผมจะยืนหยัดอยู่กับประชาชนชาวภูเก็ตทุกคน ถ้ารับบาลยังดื้อรั้นที่จะออกใบอนุญาตประกอบการให้โรงงานแห่งนี้ในเดือนสิงหาคม แล้ว เราจะพบกันในลักษณะนี้อีกครั้งหนึ่งที่บริเวณหน้าโรงงาน" นายสุรพล กล่าว

2 มิถุนายน 2529 นายจรูญ เสรีถวัลย์ ผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ และนายบันลือ ตันติวิท ผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ต พรรคราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ชาวจังหวัดภูเก็ตเกือบ 70,000 คน ได้ลงชื่อในบัญชีหางว่าวเพื่อหนังสือคัดค้านการเปิดโรงงานต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รักษาการนายกรัฐมนตรี "สมควรพิจารณาปิดโรงงานเองได้แล้ว หรือจะให้ชาวภูเก็ตเขาปิดให้ นายจรูญ กล่าว "

นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคสหประชาธิปไตย กล่าวว่าหากเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วจะสั่งยกเลิกโรงงานแห่งนี้ทันทีเพราะว่า ต่างประเทศไม่ยอมอนุญาตให้ตั้งแล้ว จึงมาตั้งในประเทศไทยและถึงจะลงทุนไปแล้วก็ต้องยกเลิกถ้าหากพบว่าเป็นพิษเป็นภัย

2 มิถุนายน 2529 นายชวลิต ณ นคร และนายเสริมศักดิ์ ปิยะธรรม ตัวแทนกลุ่มประสานงานเพื่อต่อต้านมลพิษภูเก็ตเข้าพบ นายวิโรจน์ บำรุงวงศ์ ประธานสภาเทศบาลเมืองภูเก็ตและนายปราโมทย์ แก่เมือง รองประธานสภาจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลัม ต่อมา นายปราโมทย์ แก่เมือง ได้ยื่นหนังสือด่วนต่อนายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้นายอาทร ต้องวัฒนา ประธานสภาจังหวัดภูเก็ต
เปิดการประชุมวิสามัญพิจารณาญัตติด่วนเรื่องนี้

3 มิถุนายน 2529 นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องการคัดค้านโรงงานแทนทาลัมเข้าสู่การประชุมพิจารณาของคณะรัฐมนตรีที่ประชุมรับทราบ โดยนายจิรายุ จะตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะภายใน 2 วัน ใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 เดือน

4 มิถุนายน 2529 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.อ.สมชาย หิรัญกิจผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องที่น่าวิตกมากในการที่จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โรงงานดังกล่าวถ้าสามารถย้ายไปตั้งที่อื่นได้ก็ควรดำเนินการ วันเดียวกันนางสุพัตรา มาศดิตถ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์เผยท่าทีของพรรคต่อปัญหาดังกล่าว นโยบายพรรคได้เน้นการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ ซึ่งนายจรูญ เสรีถวัลย์ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รวมทั้งประธานกรรมาธิการอุตสาหกรรมของสภาเพื่อให้ทราบถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น

5 มิถุนายน 2529 นายพิชัย รัตตกุล รักษาการของนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลชุดหน้าจะต้องรับผลสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปพิจารณาให้รอบคอบ ถ้าไม่สามารถยืนยันได้ 100 % ว่าจะไม่เป็นอันตรายจะต้องมีการทบทวนใหม่

6 มิถุนายน 2529 สภาจังหวัดภูเก็ตประชุม มีประชาชนสนใจร่วมฟังประมาณ 1,000 คน ที่ประชุมลงมติให้รัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานแทนทาลัมและนายอาทร ต้องวัฒนา ประธานสภาจังหวัดซึ่งมีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัท ดังกล่าวขอถอนหุ้นทั้งหมด

7 มิถุนายน 2529 มีการประชุมกลุ่มประสานงานเพื่อต่อต้านมลพิษจังหวัดภูเภ็ต ลงมติออกแถลงการณ์ ไม่ยอมรับคณะกรรมการพิเศษที่นายจิรายุตั้งขึ้น

9มิถุนายน2529 มีการประชุมสภาเทศบาลเมืองภูเก็ตลงมติร่วมกับประชาชนคัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลัม

10 มิถุนายน 2529 มีการออกโปสเตอร์เชิญชวนประชาชนร่วมกันชุมนุมคัดค้านโรงงานแทนทาลัมวันที่ 4 มิถุนายน เวลา 16.00 น.ที่สนามฟุตบอล หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กลุ่มรณรงค์ต่อต้านให้ลบชื่อสะพานสารสินซึ่งเชื่อมระหว่างภูเก็ต-พังงา

13 มิถุนายน 2529 กลุ่มประชาชนจังหวัดภูเก็ตประมาณ 25 คน เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลยื่นรายชื่อชาวภูเก็ต ที่คัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลัมประมาณ 70,000 คน ต่อนายกรัฐมนตรี โดยนายจิรายุ อิศรางกูร เดินทางมาพบและชี้แจงด้วยตนเองที่ทำเนียบรัฐบาล

14 มิถุนายน 2529 ชาวจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 10,000 คน รวมตัวชุมนุมกันที่หาดป่าตอง คัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลัม อีกครั้ง

15 มิถุนายน 2529 สมาคมพ่อค้าภูเก็ตและหอการค้าจังหัดภูเก็ตได้ยื่นหนังสือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาประชามติ ชาวภูเก็ต

17 มิถุนายน 2529 นายจิรายุ และนายปราโมทย์ สุขุม รักษาการรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกันแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.เปรมได้มีบัญชาให้ชี้แจงถึงกรณีนี้ ให้เข้าใจอย่างชัดเจนถึงการพิจารณาของรัฐบาลและอย่าให้บานปลาย ขอให้เน้นถึงความคิดเห็นและความรู้สึกของชาวภูเก็ตรวมทั้งผลกระทบทางด้านสังคมต่อการตั้งโรงงานด้วย โดยนายจิรายุ จะให้คำตอบแก่ชาวภูเก็ตในวันที่ 2 กรกฎาคม 2529 วันเดียวกันบรรดากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากกลุ่มธุรกิจป่าตองและชาวภูเก็ตประมาณ 2,000 คน เดินขบวนเข้าพบ นายสนองรอดโพธิ์ทอง ให้ยับยั้งการนำกรมกัดแก้วของโรงงานแทนทาลัม

18 มิถุนายน 2529 ประชาชนชาวภูเก็ตประมาณ 800 คน ได้ชุมนุมกันอีกครั้งหนึ่ง ผู้นำการชุมนุมแจ้งงว่า นายจิรายุ จะเดินทางมาดูโรงงานและพบประชาชนภูเก็ตในวันที่ 22 มิถุนายน 2529

19 มิถุนายน 2529 พ.ต.อ.ภูวดล กระแสร์อินทร์ รอง ผกก.ภูเก็ต กล่าวว่า ในวันที่ 23 มิถุนายน 2529 นี้ทางจังหวัดได้มีคำสั่งให้ ผกก.จัดเตรียมกำลังตำรวจประมาณ 50 นาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงที่ประชาชนพบกับคณะของนายจิรายุ และจัดกำลังส่วนหนึ่งไปดูแลและระวังการแทรกแซงของมือที่ 3 เวลา 19.00 น.ประชาชนประมาณ 4,000 คน รวมตัวกันชุมนุมคัดค้านขึ้นอีก และกล่าวปราศรัยโจมตีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ที่อนุญาตให้เปิดโรงงานแทนทาลัม

20 มิถุนายน 2529 นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ออกหนังสือผ่านสื่อมวลชนเชิญประชาชนให้ไปร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม ที่ศาลาประชาคมร่วมกับนายจิรายุ เวลา 09.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน 2529

23 มิถุนายน 2529 นายจิรายุ เดินทางมาถึงจังหวัดภูเก็ต ถูกประชาชนฝ่ายคัดค้านห้อมล้อมจนไม่สามารถเข้าไปเจรจากับประชาชนที่ศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ตได้ และต่อมาเกิดเหตุสลด โรงงานแทนทาลัมและ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินถูกเผา วอดวาย

 

8888888888888888888

 


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com