www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 42 คน
 สถิติเมื่อวาน 96 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
411 คน
50198 คน
1742642 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 
 

 

พระท่ากระดาน...กรุศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี  ยอดขุนพลแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์  (ขอบคุณ หนังสือ ศูนย์พระเครื่อง ฉบับพิเศษ ปีที่ 6 ฉบับที่ 85
21 ก.พ.2556
กาญจนบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันตกเพียง 129 กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษม หรือถนนบรมราชชนนี ผ่านนครชัยศรี นครปฐม บ้านโป่ง ท่ามะกา ท่าม่วง และตามทางรถไฟ 133 กิโลเมตร
มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงกันคือ ทิศเหนือติดจังหวัดตากและจังหวัดอุทัยธานี ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดราชบุรี ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี และทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า
เฉพาะชายแดนที่ติดต่อกับประเทศพม่าถึง 370 กิโลเมตร ในอดีตเมืองกาญจนบุรีเป็นเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญของพม่าตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ด้วยชายแดนดังกล่าวแม้นว่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าดงดิบ แต่ก็มีช่องทางเดินติดต่อระหว่างไทยกับพม่าอยู่หลายทางด้วยกัน เช่น ด่านบ้องตี้ ด่านพระเจดีย์สามองค์ เฉพาะด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเคยเป็นทางผ่านของกองทัพไทยและพม่าถึง 12 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 พ.ศ.2091 ในรัชสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิ ครั้งนี้พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชเวตี้ ทรงเป็นแม่ทัพยกกองทัพผ่านกาญจนบุรีไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา ผลของสงครามครั้งนี้สมเด็จพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้าง
ครั้งที่ 2 พ.ศ.2127 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงนอง ได้ให้พระยาพสิม ยอกองทัพเข้ามาผ่านกาญจนบุรี และหมายจะเอาเมืองสุพรรณบุรีเป็นที่ตั้งมั่นแต่ถูกกองทัพไทยตีแตกพ่ายไป
ครั้งที่ 3 พ.ศ.2133 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหาอุปราชา ราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ได้ยกกองทัพเข้ามาตีแขวงเมืองสุพรรณบุรี กองทัพไทยได้ออกต่อสู้จนกองทัพพม่าแตกพ่ายไป
ครั้งที่ 4 พ.ศ.2135 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหาอุปราชาได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีไทยอีกเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีไทยอีกเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จยกกองทัพออกไปตั้งรับพม่าที่หนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี ครั้งนี้ได้มีการกระทำยุทธหัตถีผลปรากฏว่าฝ่ายไทยชนะ
ครั้งที่ 5 พ.ศ.2138 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงสาวดี ได้ล้อมเมืองอยู่ 3 เดือนแต่ก็ไม่สามารถจะนำชัยชนะกลับมาได้
ครั้งที่ 6 พ.ศ.2142 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงสาวดีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ครั้งที่ 7 พ.ศ.2206 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พวกมอญเมาะตะมะ ได้อพยพครอบครัวเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พม่าได้ยกกองทัพตามครอบครัวมอญเข้ามาจนถึงเมืองไทรโยค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ยกกองทัพออกไปต่อสู้และได้ชัยชนะ
ครั้งที่ 8 พ.ศ.2207 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) ยกไปตีเมืองพม่า ได้ล้อมเมืองพุกามอยู่หลายเดือน เมื่อไม่สามารถจะตีได้จึงยกกองทัพกลับ
ครั้งที่ 9 พ.ศ.2310 ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัต พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองกาญจนบุรีจนแตกยับเยิน แล้วยกกองทัพมุ่งเข้าตีกรุงศรีอยุธยาจนแตก และได้เผาเมืองจนพินาศ
ครั้งที่ 10 พ.ศ.2317 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตั้งมั่นที่บางแก้ว แขวงเมืองราชบุรี กองทัพไทยได้เข้าต่อสู้อย่างเข้มแข็งจนพม่าต้องยอมอ่อนน้อม
ครั้งที่ 11 พ.ศ.2328 หลังจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติได้ประมาณ 3 ปี พระเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่าได้เกณฑ์เข้ามาตีเมืองไทยถึง 5 ทาง มีกำลังพลถึง 9 ทัพ เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ 2 กองทัพ ซึ่งกองทัพไทยได้ยกออกไปตั้งรับที่ทุ่งลาดหญ้า ได้รบพุ่งกันอยู่หลายวัน ในที่สุดกองทัพพม่าก็แตกพ่ายหนีไป
ครั้งที่ 12 พ.ศ.2329 พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบ กองทัพไทยได้ยกกองทัพออกไปตีค่ายพม่าทั้งสองแห่ง ผลของสงครามครั้งนี้พม่าเป็นฝ่ายแพ้ยับเยิน
อย่างไรก็ตามจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแหล่งที่มีมนุษย์เข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลายาวนานย้อนกลับไปจนถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งได้ค้นพบหลักฐานเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องมือหินกรวดหน้าเดียวและขวานหินขัดรูปเหลี่ยม โดย ดร.แวน ฮิกเกอเรน (Dr.H.R.Vaan Heekren) นักโบราณคดีชาวเนเธอร์แลนด์ที่ถูกจับตัวเป็นเชลย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีที่อินโดนีเซีย และถูกส่งมาสร้างทางรถไฟที่กาญจนบุรี
ซึ่งจากการขุดค้นสำรวจพบว่า จังหวัดกาญจนบุรีเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาหลายสมัย คือ นับแต่ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ และยุคโลหะ
เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ จังหวัดกาญจนบุรีเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนระดับเมืองนานกว่า 1,000 ปี มีโบราณสถานและโบราณวัตถุปรากฏอยู่ที่ปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ขอม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อยห่างจากตังเมืองกาญจนบุรีประมาณ 42 กิโลเมตร
ในสมัยกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏชื่อเมืองกาญจนบุรี อาจด้วยเป็นเพียงเมืองเล็ก ทางผ่านของชาวบ้านและผู้คนต่างถิ่นเดนทางผ่านไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในพระราชอาณาเขตของกรุงสุโขทัย
ต่อมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองกาญจนบุรีจึงมีความสำคัญยิ่งในด้านการศึกสงคราม ด้วยเป็นหน้าด่าน เรื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
เมืองกาญจนบุรี(เก่า) เมืองนี้ตั้งอยู่บ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี ระยะห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีปัจจุบันขึ้นไปทางเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร ตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำแควใหญ่และลำตะเพิน
ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ180 เมตร ยาวประมาณ 360 เมตร มีป้อมอยู่ สี่มุมกำแพง เมืองนี้สร้างโดยใช้คันดินเป็นกำแพงเมือง อาจมีเสาเพนียด เป็นแนวคัดดินเพื่อความมั่นคงยิ่งขึ้น
สิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณวัตถุโบราณสถานที่ปรากฏอยู่รอบเมือง คือ วัดขุนแผน วัดป่าเลไลยก์ ตลาดนางทองประศรี วัดแม่หม้าย วัดนางพิม ภายในตัวเมืองมี่สิ่งก่อสร้างโบราณวัตถุหลงเหลืออยู่เลย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ภายหลังสงครามเก้าทัพ พ.ศ.2328 และสงครามท่าดินแดง พ.ศ.2329 ทรงวินิจฉัยว่า ต่อไปภายหน้าพม่าจะเปลี่ยนแผนการเดินทัพ ยิ่งกว่านั้นอาจใช้การลำเลียงทหารทางน้ำเพื่อเข้าตีพระนครอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นเมืองกาญจนบุรีที่ลาดหญ้าจึงหมดความสำคัญและเป็นเมืองหน้าด่านต่อไป จึงโปรดให้ย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง และลำน้ำแควใหญ่ที่เรียกว่าปากแพรก ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเดิมประมาณ 18 กิโลเมตร
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านแรกที่ต้องต้านทานกองทัพพม่าที่เคลื่อนทัพมาทางบกและทางเรือ พระองค์จึงได้ให้พระยาประสิทธิ์สงครามรามภักดี ฯ เข้าเฝ้าโปรดเกล้าว่า เมืองกาญจนบุรีเป็นทางอังกฤษ พม่า รามัญ ไปมาให้สร้างเมืองก่อกำแพงขึ้นไว้จะได้เป็นชานพระนครเขื่อนเพชรเขื่อนขันธ์ มั่นคงไว้แห่งหนึ่งแล้วจะได้ป้องกันสมณะชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร พระพุทธศาสนาจะได้ถาวรถ้วน 5,000 พระพรรษา
ครั้งวันพฤหัสบดีขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 เวลาสี่โมงเช้าเก้าบาท ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2374 จึงวางศิลาฤกษ์สร้างกำแพงเมือง สร้างอยู่ประมาณ 10 เดือน เศษ จึงแล้วเสร็จ
กำแพงเดิมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 200 เมตร ยาว 440 เมตร มีป้อมมุมเมือง 4 ป้อมทางกำแพงด้านยาวมีป้อม 2 ป้อม มีประตูเมือง 6 ประตูและประตูช่องกุฏิ 2 ประตู รวม 8 ประตูด้วยกัน
ลุ่มน้ำแม่กลองที่กล่าวถึง คืออาณาบริเวณที่ลำน้ำสองสายไหลมารวมกันเป็น แม่น้ำแม่กลอง ไหลผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ที่อำเภอเมือง อำเภอท่าม่วง อำเภอท่าเรือ และอำเภอท่ามะกา เข้าสู่จังหวัดราชบุรีที่ อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมืองออกจังหวัดสมุทรสงครามที่อำเภออัมพวา ไหลลงสู่อ่าวไทย
ลุ่มน้ำสายนี้มีพระเครื่อง เลื่องลือชื่อมากมาย ทั้งที่เป็น พระกรุ และพระเกจิอาจารย์ ล้วนน่าสนใจยิ่ง ลำน้ำสายแรกที่เป็นต้นกำเนิด แม่กลอง คือ แม่น้ำแควใหญ่ (ศรีสวัสดิ์) ต้นน้ำเริ่มจากภูเขาใหญ่ชายแดนเหนืออำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ไปประมาณ 80 กิโลเมตร ไหลลงสู่ทางใต้ มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 380 กิโลเมตร 
ลำน้ำอีกสายหนึ่งคือ แม่น้ำแควน้อย(ไทรโยค) มีความยาวประมาณ 315 กิโลเมตรกำเนิดจากลำธารเล็ก ๆ บนภูเขาคือลำธารลันตีซองกาเรีย และบิคลี่ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ บริเวณที่มีแม่น้ำสามสายมาบรรจบกันนี้ เรียกว่า สามสบ และลุ่มน้ำแม่กลองเป็นที่มาแห่งชื่อพระเครื่องยอดขุนพล ที่ได้รับการขนานนามจากนักสะสมพระเครื่องว่า ยอดขุนพลศึกลุ่มน้ำแม่กลอง คือ พระท่ากระดาน แห่งกรุศรีสวัสดิ์ อันเลื่องลือชื่อ
เหตุที่ให้นาม พระยอดขุนศึก นั้น อาจเป็นเพราะพระเครื่องที่สร้างด้วยเนื้อชินตะกั่ว ด้วยเนื้อชิน แต่โบราณนั้นมีความเชื่อว่า เป็นโลหะที่มีนามข่มศัตรู คือ ความหมายของ ชิน คือ ชัยชนะ ตามตำรับพิชัยสงคราม การสร้างพระเครื่องเป็นส่วนหนึ่งของการออกรบ ดังนั้นพระเครื่องที่สร้างขึ้นจึงไม่เพียงจะเป็นมงคล ส่วนหนึ่งคือ เครื่องรางของขลังที่สร้างเสริมขวัญและกำลังใจประการหนึ่งของเหล่านักรบที่ออกศึก โดยเฉพาะเมืองกาญจนบุรีนั้น เป็นสนามรบระหว่างไทยกับพม่ามาอย่างต่อเนื่อง นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 
พระท่ากระดาน เป็นพระเครื่องที่สร้างด้วยเนื้อชินตะกั่ว อันมีคุณสมบัติประการหนึ่ง คือ จะเกิดสนิมจากออกไซด์ มีสีแดง ที่เรียกกันว่าสนิมแดง นอกจากนั้นยังปกคลุมด้วยไขขาวแซมอยู่
พระท่ากระดานมีชื่อเรียกกันแต่เดิมว่า พระเกศบิดตาแดง เนื่องจากคุณสมบัติของสนิมที่มีสีแดง โดยเฉพาะส่วนพระเนตร อีกทั้งลักษณะของพระเกศที่โดยมากมักบิดคด จึงเรียกตามลักษณะที่เห็น
หากต่อมาเมื่อมีการค้นพบพระเกศบิดตาแดงที่บ้านท่ากระดาน การเรียกขานชื่อก็เปลี่ยนไปเป็น พระท่ากระดาน ตามสถานที่พบ
พระท่ากระดาน นี้ ในหนังสือ อักขรานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงว่า “ท่ากระดาน เมืองเก่า ยุบเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2338 และลดเป็นหมู่บ้านอยู่ในเขตกิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอเมืองกาญจนบุรี”
ในปัจจุบัน ท่ากระดานมีฐานะเป็นตำบล ซึ่งขึ้นอยู่กับกิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ และกิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์นี้ ในสมัยอยุธยาเคยมีฐานะเป็นเมือง และเป็นเมืองเดียวเท่านั้นในสายน้ำแม่น้ำแควใหญ่ ที่มีเจ้าเมืองปกครองอยู่คู่เมืองกาญจนบุรีเก่า และเมืองไทรโยค ซึ่งอยู่ทางด้านแม่น้ำแควน้อยทั้ง 2 เมืองรวมเป็น 3 เมืองเท่านั้นในภูมิภาคนี้ กิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ ปัจจุบันยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอศรีสวัสดิ์
ในหนังสือ รวมเรื่องเมืองกาญจน์ ที่ทางจังหวัดกาญจนบุรีได้จัดทำขึ้นได้กล่าวถึงการพบพระท่ากระดานไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เมื่อก่อนร.ศ.114 เมืองท่ากระดานมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน แต่ปัจจุบันนี้ถูกยุบลงมาเป็นตำบลท่ากระดาน อยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ ประวัติความเป็นมาของเมืองนี้เก่าแก่มากจนสืบไม่ได้ จึงได้แต่เพียงเรื่องราวย่อ ๆ ซึ่งเป็นคำบอกเล่าของ ขุนประเสริฐ กำนันบ้านเกาะมุก ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ได้เล่าให้พระกาญจนวัตรวิบูล(สอน) เจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีพอจะจับเค้าได้ว่า
เมืองท่ากระดาน เป็นเมืองหน้าด่าน มีเจ้าเมืองเป็นชาวรามัญ(มอญ) คนพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวรามัญ นอกนั้นก็เป็นพวก สอูด (ปัจจุบันราษฎรในท้องที่อำเภอศรีสวัสดิ์ มักเรียกพวกนี้ว่า อูด ) ขมุ (ข่า) ละว้า แต่เดิมเมืองท่ากระดานมิได้เรียกว่าเมืองแต่เรียกว่า ด่าน เพิ่งจะเรียกว่าเมืองในระยะหลัง ๆ ด่านในสมัยก่อนมีอยู่ด้วยกันหลายด่าน เช่นด่านแม่จันทร์ ด่านแม่กลอง ด่านต้นโพธิ์ ด่านแม่แฉลบ ด่านท่ากระดาน ด่านท่ามะนาว ด่านเขาชนไก่ เป็นต้น ด่านเหล่านี้ตั้งขึ้นไว้รับกองทัพพม่าที่จะยกเข้ามาตีเมืองไทยนั่นเอง หลายครั้งหลายคราว ที่ด่านเหล่านี้ต้องแตกจนตั้งตัวไม่ได้ ผู้คนต้องซุกซ่อนหลบหนีเข้าป่าจนกลายเป็นเมืองร้างไปด้วยน้ำมือของพม่า แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามระหว่างไทยกับพม่าแล้ว เมืองหน้าด่านดังกล่าวแล้ว รวมทั้งเมืองท่ากระดาน ก็หมดความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในที่สุดก็กลายเป็นเมืองร้างอยู่ในป่ารกชัฏมาจนถึงทุกวันนี้”
ที่เมืองท่ากระดาน ซึ่งเป็นเมืองร้างนั้นมีวัดเก่าแก่ ยังปรากฏซากปรักหักพังอยู่ 3 วัด เรียกกันว่า วัดเหนือ วัดกลาง วัดใต้ ในบริเวณโบสถ์สร้างดังกล่าว มีผู้ไปขุดค้นหาของเก่ากัน ส่วนมากจะพบพระพุทธรูปทำด้วยตะกั่วชินโบราณ ซึ่งเรียกกันว่า พระท่ากระดาน โดยเรียกตามสถานที่ขุดค้นพบ พระท่ากระดานมี 2 แบบ คือ
1.แบบใหญ่ สูงประมาณ 2 ½ นิ้ว หน้าตักกว้าง 1 ½ นิ้ว ฟุต
2.แบบเล็ก สูงประมาณ 1 ½ นิ้ว กว้าง 1 นิ้วฟุต เศษ
ที่น่าแปลกคือ พระท่ากระดานทั้งสองแบบนี้ จะมีพระเกตุบิดตาแดง ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามพระท่ากระดานนี้เป็นพระเครื่องรางของขลังอันเป็นที่ปองปรารถนาของคนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้นอกจากความแปลกพิสดารแล้ว  เสียงเล่าลือเกี่ยวกับอภินิหารในทางอยู่ยงคงกระพัน ก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยหนุนนำให้ชื่อเสียงของพระเครื่องดังกล่าวโด่งดังยิ่งขึ้น
กล่าวกันว่า พระท่ากระดาน แตกกรุมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 แล้ว แต่การเรียกขานในนาม พระเกศปิดตา แต่การค้นพบในห้วงระหว่างปีพ.ศ.2495-2497 กลับโด่งดัง
ที่วัดท่ากระดาน หรือวัดกลาง ซึ่งเป็นกรุที่พบพระท่ากระดานมากที่สุด จึงทำให้มีชื่อเรียกขานกันว่า พระท่ากระดาน กระนั้นอาจมีเหตุจากท้องที่ที่พบพระท่ากระดานนั้น อยู่ในตำบลท่ากระดาน ซึ่งเป็นเมืองเก่าก็เป็นได้
กรุวัดกลาง หรือวัดท่ากระดานนี้ ได้ขุดพบเมื่อปี พ.ศ.2495 – 2496 โดยได้จากใต้องค์พระประธานเก่าในพระอุโบสถ นอกจากั้นผู้ขุดยังได้คำนวณจุดที่จะมีการฝังกรุพระไว้ด้วยการวัดเส้นทแยงมุมจากจุดองค์พระประธานไปจดมุมพระอุโบสถแล้วขุดพบพระท่ากระดานได้เป็นระยะ ในช่วงระยะ 1 ศอก ได้ 1 องค์ตลอด และแต่ละมุมพระอุโบสถพบโพรงอยู่ใต้ระดับพื้น และมีพระกริ่งอุบาเก็ง บรรจุอยู่ 1 องค์นอกจากนั้นตรงกลางพระอุโบสถยังพบพระท่ากระดานหลายองค์ พร้อมพระกริ่งอุบาเก็ง อีก 3 องค์
ต่อมาได้พบพระท่ากระดานจากบริเวณซากพระเจดีย์องค์ประธาน ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่พบพระท่ากระดานมากที่สุดของกรุวัดกลาง อีกบริเวณหนึ่งที่พบพระท่ากระดาน คือ บริเวณพระเจดีย์ทางทิศเหนือของพระเจดีย์องค์ประธาน บริเวณนี้มีต้นลั่นทมใหญ่อยู่ หลายคนจึงเรียกขานกันว่า กรุลั่นทม
วัดกลางแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยอู่ทอง บริเวณเดียวกันกับวัดกลางยังมีวัดล่างหรือวัดใต้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ฝั่งทิศใต้เหนือลั่นทมที่เป็นอีกหนึ่งกรุพระท่ากระดานขึ้นไปตามลำน้ำประมาณ 5 กิโลเมตร พระท่ากระดานที่ได้จากกรุแห่งนี้มีไม่เกิน 100 องค์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2495 – 2496 เป็นพระที่มีเกศค่อนข้างยาว ด้านหลังเรียบและมีที่นูนเล็กน้อย
ริมแม่น้ำแควใหญ่ฝั่งเดียวกับวัดกลาง เหนือขึ้นไปประมาณ 200 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดเหนือ หรือวัดบน เป็นอีกหนึ่งแห่งที่พบกรุพระท่ากระดาน เมื่อประมาณปี พ.ศ.2495-2496
กรุลั่นทม เป็นอีกหนึ่งกรุพระท่ากระดานที่ได้ขุดค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2497 กรุนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีไปประมาณ 70 กิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำแควใหญ่ และไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่ากระดาน หากอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์
บริเวณหน้าถ้ำมีซากเจดีย์โบราณอยู่หลายองค์ ซึ่งได้พบพระท่ากระดานพร้อมแม่พิมพ์พระท่ากระดาน และเศษตะกั่วที่เกิดสนิมแดงมีลักษณะเช่นเดียวกับสนิมที่เกิดบนองค์ของพระท่ากระดาน ลักษณะพิเศษของพระท่ากระดานจากกรุนี้บริเวณด้านหลังมีลักษณะเป็นแอ่ง หรือเป็นร่องรางทั้งสิ้น และล้วนปิดทองมาแต่ในกรุ
กรุวัดหนองบัว หรือวัดศรีอุปราราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี ในปี พ.ศ.2547 พระโสภณสมาจาร(เหรียญ) เจ้าอาวาสวัดได้ทำการบูรณอุโบสถ ได้พบพระท่ากระดาน พระสกุลท่ากระดานพิมพ์อื่น ๆ และพระปิดตาของหลวงปู่ยิ้ม บรรจุอยู่ในโถโบราณใบหนึ่งวางไว้บนเพดานพระอุโบสถ ตรงกับทับหลังของประตูด้านหลังอุโบสถ ที่เอ่ยมาข้างต้นเป็นกรุพระท่ากระดานที่มีการพบมาเนิ่นนาน เป็นที่เรียกขานกันของนักสะสมพระเครื่องว่า กรุเก่า หรือบางครั้งมีการเรียกขานกันว่า กรุศรีสวัสดิ์ ซึ่งหมายถึงกรุพระท่ากระดานที่พบในอำเภอศรีสวัสดิ์ แต่บางครั้งอาจเหมารวมไปหมด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะจำแนกแยกแยะว่าเป็นของกรุไหน
กรุใหม่ที่มีการค้นพบพระท่ากระดานคือ
กรุวัดเหนือ หรือวัดเทวสังฆาราม พบถึง 2 ครั้ง จากกรุภายในพระเจดีย์ ครั้งแรกในปีพ.ศ.2506 และครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2511ซึ่งล้วนเป็นพระท่ากระดานที่นำมาจากที่อื่นแล้วบรรจุไว้กรุพระเจดีย์ รวมกับพระพิมพ์อื่น
กรุวัดนาสวน หรือวัดโพธิ์ เป็นวัดร้างอยู่เหนืออำเภอศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรีขึ้นไปเล็กน้อยที่บริเวณหน้าวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง จึงมักเรียกกันอีกชื่อว่า วัดต้นโพธิ์ ได้มีการขุดพบพระท่ากระดานโดยนายลี เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2506 และพบอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2506
กรุวัดท่าเสา ในเขตตำบลลาดหญ้า พบเมื่อ พ.ศ.2507 จากฐานพระเจดีย์
กรุวัดเขาชนไก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพบพระท่ากระดานในปีใด แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลลาดหญ้า พระท่ากระดาน จากกรุนี้จะเป็นแบบเกศบัวตูม มีทั้งแบบด้านหลังเรียบ และหลังนูนเล็กน้อย
กรุทุ่งลาดหญ้า บริเวณใกล้ ๆ กับกองพลที่ 9 พระท่ากระดาน จากกรุนี้มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีไขขาวปกคลุมทุกองค์ และที่สำคัญปิดทองมาแต่ในกรุ
กรุเขาฤาษี อยู่ในเขต อ.ทองผาภูมิ พบเมื่อปี พ.ศ.2541 ส่วนใหญ่ชำรุดเสียหาย
พระท่ากระดาน มีพุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์ปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิบนอาสนะฐานสำเภาเป็นแบบชั้นเดียว แสดงลักษณะแง่สันแท่งเหลี่ยม หากมองจากด้านข้างจะเห็นว่ามีความเฉียงลาด ข้างบนเล็กข้างล่างใหญ่ เป็นฐานเกลี้ยงปราศจากบัว
พระเศียร มีเมาลีซ้อน 2 ชั้น ทำเป็นเส้นนูนหนา 2 ลอน และพระเกศมาลาแหลมยาว แต่จากการบรรจุลงในกรุมีการทับถมกัน จึงทำให้พระเกศชำรุด บางองค์พระเกศคดไป ทางขวา บางครั้งไปทางซ้ายบางองค์หักเหลือเพียงโคน ที่เรียกกันว่าเกศบัวตูม
พระเกศ ของพระท่ากระดานนี้เป็นการตัดกรอบภายหลังจากนำออกจากแม่พิมพ์แล้ว
พระพักตร์รูปไข่ พระเกศทำเป็นเส้นนูนหนาเหนือพระนลาฏ (หน้าผาก) ลักษณะโค้งมน เป็นส่วนของไรพระศก อันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างอู่ทอง
พระขนง (คิ้ว) เป็นเส้นนูนหนา เชื่อมติดต่อกันแบบรูปปีกกา พระเนตรโปนรูปยาวรี รอบพระเนตรเป็นร่องลึกเล็กน้อย ทำให้เน้นส่วนของพระขนงและพระเนตรเด่นชัดขึ้น
พระนาสิก (จมูก) งุ้ม เชื่อมต่อพระขนง ส่วนบนเรียวเล็กแล้วจึงผายออก พระโอษฐ์ (ปาก) ด้านบกเล็กบาง และค่อนข้างหนา รอบ ๆพระนาสิก และพระโอษฐ์เป็นร่อง ทำให้พระกโบล(กระพุ้งแก้ม) เป็นร่องบุ๋มคล้ายมีลักยิ้ม
พระหนุ(คาง) เสี้ยมเล็กน้อย และยื่นออกมาแบบคางคน อันเป็นคุณสมบัติอันเด่นชัดของสกุลช่างอู่ทอง ในส่วนของพระกรรณ (หู) นั้นเป็นเส้นนูนเชื่อมต่อมาจากกรอบไรพระศก แล้วแนบข้างพระพักตร์ลงมาจดพระอังสา(บ่า)
พระท่ากระดานจะมีลักษณะที่ก้มพระพักตร์เล็กน้อย และเอียงมาทางด้านขวาขององค์พระ 
พระศอ (คอ) ทำเป็นร่องลึกไปใต้พระหนุ ซึ่งเน้นลักษณะของพระหนุแบบคางคนชัดเจนยิ่งขึ้น
พระอุระ(อก) ตอนบนผึ่งผายและนูนเด่น แล้วจึงค่อย ๆ คอดเป็นลำพระองค์ที่พระอุระจะปรากฏผ้าสังฆาฎิพาดจากพระอังสาซ้ายลงมาเป็นเส้นหนา ลงมาจดพระเพลาเหนือพระหัตถ์ซ้าย
พระพาหา (แขนท่อนบน) ข้างขวา ทอดลงมาแล้วหักพระกร(ท่อนแขนล่าง)เล็กน้อยมาทางหน้า วางพระหัตถ์บนพระเพลา ถ้าเป็นองค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนจะปรากฏเห็นนิ้วพระหัตถ์ทุกนิ้ว
พระพาหาข้างซ้ายทอดลงมามีลักษณะหนากว่าข้างขวาเล็กน้อย แล้วหักพระกโบระ(ข้อศอก) วางพระกรบนพระเพลาพระหัตถ์  มีลักษณะนูนหนาปรากฏพระอังคุฐ(นิ้วหัวแม่มือ)นูนหนา ส่วนนิ้วพระหัตถ์อื่นไม่แสดงรายละเอียด นอกจากทำเป็นเส้นหนายื่นยาวกว่าพระอังคุฐเท่านั้น
พระเพลา (ตัก) มีลักษณะนูนหนามากที่สุด และยื่นออกมาข้างหน้าแสดงความลึกตรงข้อพระบาท(ข้อเท้า) ซ้ายและขวา แสดงส่วนของขอบจีวรเป็นสันนูนแล้วเว้าลงเป็นข้อพระบาท
หากสังเกตตรงส่วนพระเพลาจะพบว่า พระท่ากระดานนั้นแสดงส่วนของพระบาทได้อย่างชัดเจน ปรากฏฝ่าพระบาทวางซ้อนทับกันแบบพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย
ด้านหลังพระท่ากระดานปรากฏทั้งแบบเรียบนูน ซึ่งจะมีส่วนโค้งเล็กน้อย ตรงบริเวณส่วนกลางปรากฏแอ่ง ซึ่งเป็นการยุบตัวของเนื้อตะกั่ว แบบหลังเรียบ ซึ่งจะเรียบไม่ปรากฏส่วนนูนแต่ประการใด และแบบหลังเว้า ด้านหลังจะเป็นแอ่งลึกลงไปส่วนด้านข้างมีขอบสูงตามแนวขอบรอบนอกขององค์พระ
สำหรับการปิดทองมาแต่ในกรุของพระท่ากระดานนั้น มีด้วยกัน 2 ลักษณะคือ การปิดทองในลักษณะเหมือนทาทองไว้เพียงบาง แต่ติดสนิทแน่น กับอีกลักษณะหนึ่งจากมีการลงชาดก่อนแล้วจึงปิดทอง หรืออาจทาชาดแล้วลงรักจากนั้นจึงปิดทอง
พระท่ากระดาน ได้ชื่อสมญาว่า “ยอดขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง”
999999999999
                        
 
 
คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com