www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 55 คน
 สถิติเมื่อวาน 61 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
1482 คน
43054 คน
1735498 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

ข้อมูลจาก : คุณอนันต์  จำเริญเจือ จากวัดอินทรประทานพร (ภูปอ)

วันที่ 8 ธันวาคม 2552

เรียบเรียงโดย  พระครูอินทพัฒนคุณ  เจ้าอาวาสวัดอินทรประทานพร

ประวัติวัดอินทรประทานพร (ภูปอ)

            วัดอินทรประทานพร  ชาวบ้านเรียกว่า  วัดภูปอ เพราะตั้งอยู่บนเชิงเขาชื่อว่า ภูปอ,       คำว่า  ภูปอ  มาจากคำว่า  ภู+ปอ, คำว่า ภู หมายถึง ภูเขา, คำว่า ปอ มีผู้รู้อธิบายไว้ว่าภูเขาแห่งนี้มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าต้นปอสัมพันธ์ ปอสันพัน หรือปอแสนพันก็เรียก (ต้นกระไดลิง) และสมัยก่อนคนแถบนี้นิยมนำเปลือกไม้นี้มาทำเป็นเชือก และบนภูเขานี้มีต้นไม้ชนิดนี้มากกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกภูเขานี้ว่า ภูปอ อีกนัยหนึ่ง คำว่า ปอ มาคำจากภาษาลาวว่า ป้อ แปลว่า เตี้ย ไม่สูง แต่ภาษาลาวในที่นี้ไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ คำว่า ป้อ จึงมีรูปว่า ปอ สรุปแล้วคำว่า ภูปอ จึงหมายถึง ภูเขาที่มีต้นปอเยอะ หรือภูเขาที่ลักษณะเตี้ยนั้นเอง

ภูมิที่ตั้งเขาภูปอ

            ภูปอเป็นเขาหินทราย  ตั้งอยู่ที่ ตำบลภูปอ  อำเภอเมือง  จังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากอำเภอเมือง ๓๗  กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอสหัสขันธ์ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ กาฬสินธุ์–สมเด็จ เลี้ยวเข้าถนนทางหลวงชนบทบ้านแก่งนาขาม-บ้านห้วยแสง ผ่านบ้านหนองแวงเหนือ จนถึงวัดอินทรประทานพร ซึ่งอยู่เชิงเขาภูปอ ระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร หรือจะมาตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๗ ถนนสายกาฬสินธุ์-อำเภอสหัสขันธ์ เลี้ยวเข้าตามถนนทางหลวงชนบทที่ กส. ๓๐๐๕ (ถนนสายบ้านโนนคำม่วง-บ้านค่ายลูกเสือ) ผ่านบ้านคำปลาฝาโนนชัย บ้านห้วยแสง ระยะทางประมาณ ๑๔ กิโลเมตร

            ยอดเขาภูปอสูง ๓๓๖ เมตร จากระดับน้ำปานกลาง หรือสูง ๙๔ เมตรจากพื้นดินล่างทอดตัวตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ฟากเขาด้านทิศเหนือเป็นเขตอำเภอสหัสขันธ์ ฟากเขาทิศใต้เป็นเขตอำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งศิลปะถ้ำสมัยประวัติศาสตร์ ณ ที่นี้เป็นภาพสลักรูปพระนอนบนแผ่นหินใต้เพิงผา ๒ แห่ง อยู่ทางฟากเขาทางด้านทิศตะวันตกในเขตวัดอินทรประทานพร บ้านโนนสวรรค์ ตำบลภูปอ อำเภอเมือง จังกาฬสินธุ์ที่รุ้ง ๑๖ องศา ๓๗ ลิบดาเหนือ และแวง ๑๐๓ องศา ๓๘ ลิดาตะวันออก

            ภาพสลัก    รูปอยู่บนผาหินระดับกันภาพแรกสลักอยู่ผนังหินใต้เพิงเชิงเขาสูงจากพ้นดินราบ  (ที่วัด)  ประมาณ    เมตร  ภาพที่สองอยู่บนผนังหิน  ใต้เพิงผาเกือบถึงยอดเขา  สูงจากพื้นดินล่างประมาณ  ๘๐  เมตร  มีบันไดทางขึ้น   ๔๖๒ ขั้น มีที่พักเป็นระยะ

            อนึ่ง วัดอินทรประทานพร (ภูปอ) ตั้งเมื่อ พ.. ๒๔๘๑ ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๘๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลภูปอ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ อาณาเขตทิศเหนือจดป่ายาว 6 เส้น ทิศใต้หนองสิมน้ำยาว ๓ เส้น ทิศตะวันออกจดตาดโตน ๖ เส้น ทิศตะวันตกจดถนนสาธารณะยาว ๖ เส้น เนื้อที่ประมาณ ๑๘ ไร่

            อาคารเสนาสนะ ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๔  เมตร ยาว ๓๐.๕๐  เมตร สร้างเมื่อ พ..๒๕๔๑ จำนวน ๑ หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล ๑ หลัง กุฏิสงฆ์ ๖ หลัง โรงอุโบสถสีมาน้ำ ๑ หลัง ปูชนียะสถานวัตถุ มีพระพุทธไสยาสน์ ๒ องค์ เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี อายุประมาณ ๑,๕๐๐ ปี เป็นภาพสลักอยู่บนผาหินต่างระดับกัน ภาพแรกอยู่บนผนังหินใต้เพิงผาชิงเขาสูงจากพื้นดินประมาณ ๑๒ เมตร ภาพที่สองเป็นภาพสลัก ณ เพิงผาใกล้ยอดเขา เมื่อประมาณ พ.. ๒๕๑๙ วัดและพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างบันไดทางขึ้นประมาณ ๔๖๒ ขั้น มีศาลาที่พักเป็นระยะ ๆ เพื่อสะดวกในการขึ้นไปชมหรือนมัสการพระนอนทั้ง ๒ องค์นี้

            ­การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

๑.           พระอธิการหมั่น

๒.           พระอธิการเสือ

๓.           พระอธิการเคนสิงห์ สิริปุณฺโณ

๔.          พระอธิการทองหม่อย

๕.          พระอธิการสี

๖.           พระอธิการเฉลิม

๗.          พระอธิการตู้

๘.          เจ้าอธิการสุขสันต์ สมฺปนฺโน

๙.           พระอธิการเฮียว  สิริวณฺโณ

๑๐.       พระอธิการพรหม ญาณวโร

๑๑.       พระอธิการสุชา  จนฺทสโร

               พระอธิการเคน  เขมวโร และ

๑๓.          พระครูอินทพัฒนคุณ เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ จนถึงปัจจุบัน

 

ลักษณะของศิลปกรรมพระพุทธไสยาสน์ภูปอ

รูปพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์เป็นภาพสลักนูนต่ำบนแผ่นหิน ๒ ตำแหน่ง

            ตำแหน่งแรก เป็นภาพสลักบนแผ่นหินใต้เพิงผาเชิงเขา สูงขึ้นมาจากแผ่นหิน ๑๕  เซนติเมตร  ความยาวของภาพสลัก ๓.๓๐  เมตร กว้าง  ๑.๒๗  เมตร ภาพสลักนี้มิได้สลักแต่รูปองค์พระนอนลอยๆ แต่สลักบนแผ่นพื้นหินให้เป็นรูปผ้าปูลาดรององค์พระ และผ้า(หมอน)  รองหมุนพระเศียร และรองพระบาททั้งคู่ รอบ ๆ พระวรกายและพระเศียร สลักเป็นรูปประภาวลี ที่มีเส้นกรอบนอกของประภาวลีรอบพระเศียรสลักเป็นดวงดอกไม้เป็นระยะทำให้ดูคล้ายเป็นรัศมีเพิ่มขึ้น องค์พระนอนข้างตามแบบสีหะไสยา พระเศียรประทับบนพระหัตถ์และพระกรข้างขวา หันสู่ทิศเหนือ พระพักตร์หันสู่ทิศตะวันตก พระพักตร์รูปเหลี่ยมแป้น ขมวดพระเกศาใหญ่ พระอุษณีษ์นูนแหลมเป็นรูปกรวย รายละเอียดพระพักตร์คมชัด พระกรซ้ายวางทอดแนบพระองค์ พระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวาในแนวเกือบตั้งฉาก แสดงการครองผ้าห่มเฉียงแนบพระองค์ ไม่แสดงผ้าเป็นจีบแต่อย่างใด เว้นแต่แสดงชายผ้าแผ่พลิ้วเล็กน้อยในช่วงล่าง ปลายพระบาทด้านล่างมีตัวอักขระโบราณ แต่ปัจจุบันเมื่อมีผู้ทาสีทองสังเคราะห์ทาทับตลอดแผ่นหินที่มีภาพสลักชิ้นนี้ ทำให้ไม่อาจทราบว่าข้อความประการใด หรือกำหนดอายุสมัยของอักขระที่คนโบราณได้จารไว้ได้

            ตำแหน่งที่สอง   หรือภาพสลักที่อยู่สูงขึ้นไป ณ เพิงผาใกล้ยอดเขา เป็นรูปพระนอนสลักนูนบนแผ่นหินใต้เพิงผาซึ่งยื่นออกมา ๓.๔๕ เมตร และสูงจากพื้น ๒.๖๕ เมตร  ก้อนหินที่รองรับเพิงบนจึงมีความสูงพอที่จะสลักรูปพระนอนประทับตั่งเตียง โดยสลักหินที่รองรับใต้องค์พระให้เป็นแท่นขอบเหลี่ยมต่อด้วยขาคู่หนึ่ง ซึ่งสลักเสลาให้ดูเป็นขาเตียงต่อออกไปจนถึงพื้นหินเบื้องล่าง หน้าเพิงผาเป็นลานกว้างขนาด ๘.๔๐  เมตร ความยาวของภาพสลักนับจากประภาวลีเหนือเศียรพระจนถึงขอบเตียงปลายพระบาท ๕.๒๐ เมตร ส่วนกว้างสุด ๑.๕๐ เมตร องค์พระสลักนูนจากผนังขึ้นมาถึง ๕๕ เซนติเมตร ทำให้ดูคล้ายภาพสลักนูนสูงมากประกอบกับการสลักให้มีเส้นโค้งเว้า เน้นสัดส่วนและลักษณะอ่อนช้อยขององค์พระมากกว่าการจำกัดให้อยู่ในกรอบเส้นตรง ยิ่งทำให้พระองค์พระลอยเด่นขึ้นประหนึ่งภาพลอยตัว มิใช่ภาพสลักติดอยู่กับผนังหิน องค์พระทอดพระองค์ยาวในท่านอนตะแคงข้างขวา  แบบที่เรียกว่า สีหะไสยา (ท่านอนดุจพญาราชสีห์)  อันเป็นท่านอนที่พระพุทธเจ้าปฏิบัติตามปรากฏในพระไตรปิฎก  พระเศียรหันสู่ทิศเหนือค่อนมาทางทิศตะวันตกเพียงเล็กน้อย พระพักตร์หันสู่ทิศตะวันตก วงพระพักตร์รูปไข่ พระขนงเป็นเส้นโค้งคมยาวรับกับพระเนตร (หลับ) โต และพระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์ประหนึ่งยิ้มแย้มเล็กน้อยรับกับพระปรางค์ และพระหนุอิ่มเอิบ  พระกรรณยาวได้สัดส่วน อันเป็นเค้าพระพักตร์พระพุทธรูปแบบอมราวดีและแบบสุโขทัย  เม็ดเกศาเป็นรูปก้นหอยใหญ่  พระอุษณีษ์นูนเป็นรูปกรวย  ต่อด้วยพระเกตุมาลาเป็นเปลวสั้นสลักให้เป็นบาง ๆ พระเศียรหนุนบนพระกรขวาซึ่งมีหมอน (ขวาง) เป็นรูปสามเหลี่ยมรองรับ พระกรซ้ายวางพาดแนบพระวรกาย ซึ่งแสดงส่วนโค้งเว้าตามแบบรูปร่างมนุษย์ แสดงการครองผ้าแบบห่มเฉียงแนบพระองค์  สลักร่องเป็นแนวสังฆาฏิพาดทับอยู่บนพระปฤษฎางค์ซ้าย  ปลายสังฆาฏิหยักริ้วเล็กน้อย แสดงริ้วอุตราสงค์ (จีวรผ้าห่มของพระสงฆ์) และริ้วชายอันตรวาสก (สบงผ้านุ่งของสงฆ์) พระบาทซ้ายเกยพระบาทขวาคู้เล็กน้อย ไม่ซ้อนกันแนบสนิทในแนวฉากหรือเกือบจะตั้งฉากตามพุทธประติมารูปพระนอนทั่วไป

ความหมาย

            ภาพสลักรูปพระนอนทั้ง ๒ ภาพ ณ ภูปอแห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นพระพุทธไสยาสน์ทั้งรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ทิศทางการหันพระเศียรสู่ทิศเหนือ องค์พระประทับบนผ้ารองหรือตั่งเตียง ประภาวลีรอบพระพุทธองค์ยังแสดงถึงการสร้างสรรค์พุทธประติมาชิ้นนี้ เพื่อให้หมายถึงพระพุทธเจ้าปางปรินิพพานยิ่งกว่าพุทธบรรทม

            ลักษณะศิลปกรรมภาพสลักพระนอนองค์แรก (องค์ล่างหรือองค์ที่อยู่เชิงเขา) สร้างตามศิลปกรรมแบบทวารวดีสกุลช่างอีสานอย่างเห็นได้ชัด กำหนดอายุอย่างกว้าง ๆ น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔

            ลักษณะศิลปกรรมภาพสลักพระนอนองค์ที่สอง (องค์บนหรือองค์ที่อยู่ใกล้ยอดเขา) น่าจะสร้างขึ้นในสมัยหลัง เพื่อสืบทอดคตินิยมการสร้างพระพุทธไสยาสน์ เพื่อสักการบูชา ทั้งนี้ได้สร้างขึ้นตามแบบอย่างพุทธศิลปะแบบทวารวดีที่มีพระนอนที่อยู่เชิงเขาเป็นต้นแบบ เป็นอาทิประการหนึ่ง ผสมผสานกับพุทธศิลปะแบบสุโขทัยที่ปรากฏอยู่ร่วมสมัยกับผู้สร้าง ทำให้พระพุทธไสยาสน์องค์ แสดงลักษณะความเรียบง่ายสง่างามแบบศิลปกรรมทวารวดี แต่ลดความแข็งหนัก (ในปริมาตรของประติมากรรม) ที่มีอยู่ในพุทธศิลปะทวารวดี โดยเพิ่มคุณลักษณะอันอ่อนช้อยบางเบาคล้ายเคลื่อนไหวของศิลปะสุโขทัยลงไป เน้นพระพักตร์ที่สวยงามอ่อนหวาน (ประหนึ่งแย้มยิ้ม) แบบพระพักตร์พระพุทธรูปสุโขทัย แต่ก็ได้ละการเน้นเส้นขอบคม เส้นหยัก ตามความนิยมในศิลปะสุโขทัย มีเพียงรูปเปลวสั้นเหนืออุษณีษ์ ที่ทำให้ประจักษ์ได้ว่า ภาพพระนอนองค์นี้มิได้สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี

            อนึ่ง การสร้างภาพพระพุทธรูปแสดงพระพักตร์งดงามคล้ายแบบสุโขทัย ตลอดพระองค์อ่อนช้อยนี้ มิใช่ว่าช่างโบราณอีสานจะมิเคยพบเห็นมาก่อน พระพุทธรูปแบบอมราวดีและคุปตะรุ่นแรก ๆ ตามศิลปกรรมอินเดียใต้ ที่แพร่หลายอยู่บนแผ่นดินอีสาน และใกล้เคียงก็มีให้เห็นอยู่หลายองค์ ก่อนที่จะคลี่คลายมาเป็นพระพุทธรูปแบบทวารวดีสกุลช่างอีสานที่สร้างแบบนิยมท้องถิ่นขึ้นมา ดังนั้น ศิลปินผู้สร้างสรรค์ภาพสลักพระนอน ณ ที่นี้ จึงสามารถนำเอาศิลปะสมัยต่างกันมาผสมผสานในงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ และได้ภาพสลักพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามยิ่งองค์หนึ่ง ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙

สภาพปัจจุบัน - ศักยภาพ และการอนุลักษณ์

            กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งศิลปะถ้ำภูปอ  ให้เป็นโบราณสถานของชาติ  โดยที่อยู่ในความดูแลรักษาของหน่วยศิลปกรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด  ซึ่งมีพนักงานดูแลรักษาโบราณสถาน   กรมศิลปกร มาดูแลเป็นครั้งคราว

            เนื่องจากแหล่งภาพสลักพระนอนอยู่ติดเขตวัดอินทรประทานพร ทางวัดอันประกอบด้วยฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส (กรรมการวัด, มรรคทายก) ช่วยกันดูแลรักษา มีบันไดทางขึ้นไปชมและบุชาพระนอน เนื่องจากเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล  ภาพสลักพระพุทธไสยาสน์ที่ภูปอจึงเป็นโบราณสถานที่ยังทำหน้าที่เป็นพุทธสถาน มีประเพณีการทรงน้ำ-ปิดทองพระพุทธไสยาสน์ ณ ภูปอ ในเทศกาลวันสงกรานต์และทุกวันเพ็ญเดือน  ๖ หรือถ้าปีที่มีเดือน ๘ สองหนจะเป็นวันเพ็ญเดือน ๗ ซึ่งตรงกับวันวิสาขะบูชา (วันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปริพาน) สอดคล้องกับภาพสลัก ที่แสดงภาพปางปรินิพานอีกด้วย

ตำนานพระพุทธไสยาสน์

            มีเรื่องเล่าสืบ ๆ กันมาว่า พระพุทธไสยาสน์ภูปอทั้ง ๒ องค์นี้ สร้างในสมัยที่สร้างพระธาตุพนม กล่าวคือ เมื่อข่าวการก่อสร้างพระเจดีย์เพื่อจะบรรจุพระอุรังคธาตุ (ธาตุพนม) แผ่กระจายออกไปในหัวเมืองต่าง ๆ ประชาชนต่างก็พากันให้ความร่วมมือในการก่อสร้างพระเจดีย์ดังกล่าวนั้น และมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางมาจากเมืองแดนใต้ ประสงค์จะไปร่วมก่อสร้างเจดีย์ธาตุพนม พอเดินทางมาถึงบริเวณภูปอแห่งนี้ก็หยุดพักและได้ทราบข่าวว่าพระธาตุพนมได้สร้างและสมโภชเสร็จเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าประชาชนกลุ่มนั้นจึงได้ปรึกษากันแล้วตกลงว่าให้ฝังสมบัติที่พากันนำมาไว้ที่ภูปอ และมีดำริที่จะก่อสร้างสิ่งที่เป็นเครื่องระลึกและเป็นพุทธบูชา จึงได้พากันสลักหินเป็นพระพุทธรูป ซึ่งแสดงถึงภาพปางไสยาสน์ในท่าตอนที่ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน  แล้วตั้งคำปริศนาธรรมไว้ว่า “พระหลงหมู่อยู่ถ้ำภูบก แสงตาตกมีเงินเจ็ดแสน ไผหาได้กินทานหาแหน่ เหลือจากหั่นกินเสี้ยงบ่หลอ”

 

เรียบเรียงโดย  พระครูอินทพัฒนคุณ  เจ้าอาวาสวัดอินทรประทานพร

อ้างอิง

กรมการศาสนา; ประวัติทั่วราชอาณาจักร เล่มที่ ๑๓:  โรงพิมพ์กรมการศาสนา: ๒๕๓๗

กรมศิลปากร (อมรา ศรีสุชาติ); ศิลปะถ้ำสมัยประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: หจก. ป.สัมพันธ์พาณิชย์: ๒๕๓๕


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com