www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 43 คน
 สถิติเมื่อวาน 33 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2700 คน
11730 คน
1704174 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 
 

ชีวิตนักข่าว....ความเป็นมาของฐานันดร 4
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์

ผมมีอาชีพเป็นผู้สื่อข่าว มานาน และได้เห็นพฤติกรรมของผู้ที่ยึดอาชีพนักข่าว ที่หลากหลาย และได้ยินได้ฟังเรื่องราวชีวิตของนักข่าว คือฐานันดร 4 ซึ่งดูแล้วเหมือนเราเป็นอภิสิทธิ์ชน ที่อยู่เหนือคนอื่น ทำนองนั้น แต่ผมก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ไปกว่าคนที่ประกอบอาชีพอื่น   เพราะผมคิดว่า อาชีพนักข่าว หรืออาชีพสื่อสารมวลชน ก็คืออาชีพที่สุจริต อาชีพหนึ่งเท่านั้น แต่ทำไม อาชีพนักข่าว จึงถูกยกย่องให้เป็น ฐานันดร 4 
 
คำว่าฐานันดร 4 มีที่มาที่หลากหลาย และมีการกล่าวแตกต่างกันไป นักประพันธ์คนหนึ่ง คือ นิกโคโล มาชิอาเวลิ (Niccolo Machiaveli) เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง เดอะพรินซ์ หรือ เจ้าฟ้า ซึ่งเขาเป็นคนแรกที่สร้างระบบ 3 ฐานันดร (Three Estates )  ผู้ควรยกย่องคือ
1.) พระ
2.) สภาขุนนาง
3.) สภาสามัญ 
 
แนวคิดดังกล่าว ต่อมาทำให้มีการเพิ่มฐานันดรใหม่ขึ้นมา คือ ฐานันดร 4 (Fourth Estates )  ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบอาชีพเป็นผู้สื่อข่าว 
 
มีอีกทัศนะหนึ่ง ที่เริ่มจากชาวยุโรปที่แบ่งชนชั้นออกเป็น 3 วรรณะ หรือ 3 ฐานันดร คล้ายกับ ชาวอินเดีย ที่แบ่งชนชั้น ออกเป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ส่วนชาวอังกฤษมีการแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ หรือ 3 ฐานันดร คือ ขัตติยะ (นักรบ) บรรพชิต(นักบวช) และพ่อค้าหรือกสิกร 
 
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึง ฐานันดรที่ 4 ในหนังสือฝรั่งศักดินาว่า วันหนึ่งเมื่อสภาเปิดประชุม มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งชื่อว่า เอ็ดมันด์ เบอร์ก   ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า “ในขณะที่เราทั้งหลายผู้เป็นฐานันดรใดในฐานันดรทั้งสาม กำลังประชุมอยู่นี้ เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่า บัดนี้ได้มีฐานันดรที่ เกิดขึ้นแล้ว และฐานันดรนั้นกำลังนั่งฟังการประชุมของเรา ณ ที่นี้ด้วย ” เมื่อกล่าวจบ เอ็ดมันด์ เบอร์ก ก็ชี้ไปที่ คนหนังสือพิมพ์ที่เข้ามาฟังการประชุมสภาอยู่ด้วย ตั้งแต่นั้นมาก็เลยทึกทักเอาว่า คนหนังสือพิมพ์เป็นฐานันดรที่ 4
 
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกแนวทางหนึ่ง โดยการเปรียบเทียบกับอำนาจอธิปไตยในการบริหารการปกครองประเทศ ซึ่งมีอำนาจหลัก 3 ด้าน คือ อำนาจบริหาร(รัฐบาล) อำนาจนิติบัญญัติ(สภา) อำนาจตุลาการ(ศาล) เหตุนี้เอง ผู้ประกอบอาชีพผู้สื่อข่าว ที่ทำหนังสือพิมพ์ ในอดีต และเป็นองค์กรทางสังคม ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม กำกับ ควบคุม ถ่วงดุลอำนาจทั้ง 3 ด้าน จึงมีการให้สถาบันหนังสือพิมพ์ หรือคนทำสื่อ เป็น ฐานันดรที่ 4
 
ที่มาของฐานันดรที่ 4 อีกอย่างหนึ่ง มาจากบทความเรื่อง หนังสือพิมพ์ในอังกฤษ รศ.นันทริกา คุ้มไพโรจน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ว่า ในปี ค.ศ.1820 พระมหากษัตริย์ของอังกฤษคือ พระเจ้ายอร์ชที่ 3 เสด็จสวรรคต พระเจ้ายอร์ชที่ 4 พระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์สืบแทน 
 
ตามประเพณี มเหสีคือพระนางคาร์โลรีน (Carlorine)  จะได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระราชินี แต่พระเจ้ายอร์ชที่ 4 มีพระราชประสงค์ที่มีพระราชินีใหม่ จึงนำเรื่องเข้าสู่สภาเพื่อให้สภาลงมติให้การสมรสกับ พระนางคาร์โลรีนเป็นโมฆะ สภาไม่คัดค้านเพราะต่างก็เกรงกลัวที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง
 
หนังสือพิมพ์ The Time โดย นายโธมัส บาร์น (Thomas Barns)  เป็นบรรณาธิการ มีการพาดหัวทุกวันด้วยข้อความว่า This must not be allowed because it against the law and religion ส่วนนายโธมัส ได้เขียนบทความคัดค้านอย่างรุนแรงโดยให้เหตุผลว่า เป็นการผิดต่อกฎหมาย ขนบธรรมเนียม พระราชประเพณีและศาสนา ทำให้ประชาชนเกิดการคัดค้านมติของสภาอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีและผู้แทน  ไม่กล้าขัดต่อมติมหาชน และไม่ยินยอมปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของพระเจ้ายอร์ชที่ 4
 
จากชัยชนะครั้งนั้น ที่เป็นผลของการเขียนบทความและข่าวของ นายโธมัส ที่ลงในหนังสือพิมพ์ ทำให้หนังสือพิมพ์ เป็นปากเสียงที่แท้จริงของประชาชนได้ จนทำให้รัฐบาลอังกฤษพ่ายแพ้ต่อมติมหาชน เป็นผลให้หนังสือพิมพ์มีบทบาทต่อสังคมมากขึ้น   จากชัยชนะครั้งนั้น ของหนังสือพิมพ์ The Time ถูกฝ่ายศัตรูเรียกว่า The Thunderer ส่วนนายโธมัส บาร์น ได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษคนที่ 3 รองจากนายกรัฐมนตรีและพระสังฆราช 
 
เมื่อหนังสือพิมพ์มีบทบาทและอำนาจมากขึ้น รัฐบาลเริ่มมองหนังสือพิมพ์ว่าเป็นเสี้ยนหนามในการปกครองประเทศ และพยายามที่จะทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมหนังสือพิมพ์ แต่นายโธมัส ไม่ยอมแพ้ เขาจึงสถาปนาพวกนักหนังสือพิมพ์เป็น ฐานันดรที่ 4 ทำหน้าที่เป็นปากเสียง หู ตา ให้กับประชาชน และมีความสำคัญกว่าฐานันดรที่ 3 อีกด้วย
 
นอกจากนี้ แนวทางการเรียกนักข่าว ตามแนวคิดของคนไทย คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ  ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “คำว่าฐานันดรที่ 4 ต้องหมายความว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจในการที่จะบันดาลให้เป็นไปในลักษณะที่พึงประสงค์ถ้าไม่มีความหมายอย่างนี้ก็ป่วยการ อาชีพหนังสือพิมพ์นี้มันประหลาด ถ้าจะจัดด้วยวรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร แล้วดูจะไม่เข้าวรรณะไหน จะกลายเป็นวรรณะที่ 5 ด้วยซ้ำไป จะเรียกว่าฐานันดรที่ 4 อะไรก็ตาม ต้องมีความหมายว่าเป็นผู้มีอำนาจ หรือตัวการที่คงความมีอำนาจในการที่จะบันดาลให้โลกนี้เป็นไปในลักษณะที่พึงประสงค์”
 
“ในเมื่อมุ่งหมายที่จะรื้อฟื้น เยียวยาความเสื่อม ความตกต่ำทางศีลธรรม ไม่มีอะไรที่ฐานันดรที่ 4 จะทำไม่ได้ เพราะเป็นสถาบันที่จะบันดาลโลกให้เป็นไปในฐานะที่พึงประสงค์ หนังสือพิมพ์นี่ไม่ใช่แผ่นเศษกระดาษ ไม่ใช่กระดาษเพื่อการค้า แล้วก็ไม่ได้เครื่องมือที่จะทำลายล้างซึ่งกันและกัน แต่ต้องเป็นการเชื่อมต่อสื่อสัมพันธ์ที่จะช่วยกันแก้ไขมนุษย์ให้ดีขึ้น ”
 
“บทบาทหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ในฐานะฐานันดรที่ 4 ในลักษณะสร้างสรรค์สื่อสัมพันธ์ช่วยแก้ไขมนุษย์ให้ดีขึ้น นักหนังสือพิมพ์ไทย  ทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกัน ”
 
พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เจ้าของนามปากกา เวตาล และ จันทวาทิตย์ นักเขียนอาวุโสของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ทรงนิพนธ์ถึงเรื่องนี้ว่า นักหนังสือพิมพ์ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ต้องรู้จักแบ่งส่วนระหว่างอุดมคติกับท้องให้ดี ถ้าถืออุดมคติเกินไป ท้องก็หิว ไม่มีแรงทำงานแน่ ถ้าถือท้องเป็นใหญ่ตะกละตะกลามเห็นแก่กิน ไม่มีอุดมคติเสียเลยก็ไม่ใช่คน 
 
อย่าเสนอข่าวหรือความเห็นด้วยความคิดที่จะบดขยี้ ทำลายบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นอันขาด นอกจากนั้น ควรจะได้ประคับประคองผู้ที่พลาดพลั้งประสบชะตากรรม จะด้วยความประมาทเลินเล่อ หรือด้วยประการใดก็ตาม
 
หนังสือพิมพ์หลายฉบับชอบฉวยโอกาสบดขยี้คนที่ทำผิดพลาด แต่นั่นโทษก็ยังเบากว่าพวกที่ดึงเอาคนดีลงมาทำลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้แต่ตรงกันข้าม หนังสือพิมพ์ต้องส่งเสริมคนดีทะนุถนอมคนมิให้เลวลงไปยิ่งกว่าเดิม จึงจะได้ชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว
 
ทรรศนะต่าง ๆ เกี่ยวกับที่มาและความหมายของคำว่า ฐานันดรที่ 4 นี้คงช่วยให้มีความเข้าใจกว้างขวางยิ่งขึ้น หากนำแนวคิดไปปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะทำให้ฐานันดรที่ 4 ได้รับการยอมรับเชื่อถือ จากประชาคมมากยิ่งขึ้นว่าเป็นสถาบันที่มีเกียรติ ศักดิ์ศรี เพราสร้างสรรค์มากว่าทำลายอย่างแน่นอน
 
8888888888888888888



คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com